ข่าว

เช็คสิทธิ "ทำฟันฟรี" ประกันสังคม ปีละครั้ง ใช้สิทธิยังไง เช็คที่นี่

เช็คสิทธิ "ทำฟันฟรี" ประกันสังคม ปีละครั้ง ใช้สิทธิยังไง เช็คที่นี่

18 ธ.ค. 2565

สิทธิ "ทำฟันฟรี" ประกันสังคม ใช้ได้ปีละครั้ง หากผู้ประกันตนไปใช้สิทธิทันตกรรม และมีการสำรองจ่ายให้ผู้ประกันตนนำใบเสร็จรับเงิน-ใบรับรองแพทย์ฉบับจริง ไปยื่นก่อนครบสองปี

สิทธิ "ทำฟันฟรี" ประกันสังคม 900 บาท ไม่ต้องสำรองจ่าย ทำอะไรได้บ้าง?

ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม โดยไม่ต้องสำรองจ่ายในวงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี

รายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

1.การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาท/ครั้ง/ปี

 

 

 

2.กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้ "ทำฟันฟรี" รับค่าบริการทางการแพทย์ และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5  ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

 

2.1)  1-5 ซี่   เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน  1,300 บาท

2.2) มากกว่า 5 ซี่   เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท

 

3.กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5  ปีนับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

3.1)  ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง  เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน  2,400  บาท

3.2)  ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง  เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน  4,400 บาท

สำหรับกรณีที่มีการใช้บริการด้านทันตกรรมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด แต่เกินจากวงเงิน 900 บาท ผู้ประกันตนจึงต้องมีการสำรองค่าใช้จ่ายและทำเรื่องขอรับเงินคืนได้  โดยเตรียมเอกสารเป็นหลักฐาน ดังนี้

 

หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์กรณีทันตกรรม

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)
  • ใบรับรองแพทย์
  • ใบเสร็จรับเงิน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
  • เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา(กรณีเบิกฟันปลอมฐานอคริลิก)

 

กรณีขอรับเงินทางธนาคาร สามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) โดยให้แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี 11 ธนาคาร ดังนี้

– ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

– ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารออมสิน (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)

– ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
 

หากผู้ประกันตนไปใช้สิทธิทันตกรรม และมีการสำรองจ่ายให้ผู้ประกันตนนำใบเสร็จรับเงิน ,ใบรับรองแพทย์ฉบับจริง ,สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน และแบบ สปส.2-01 ขอรับประโยชน์ทดแทน ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / จังหวัด/สาขา ที่สะดวก (ยกเว้น สำนักงานประกันสังคมสำนักงานใหญ่ บริเวณกระทรวงสาธารณสุข)  

 

หรือผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรมด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th  โดยผู้ประกันตนสามารถบันทึกข้อมูลการขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม พร้อมแนบไฟล์ใบเสร็จรับเงิน ,ใบรับรองแพทย์ , สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน โดยไม่ต้องเดินทางมาติดต่อที่สำนักงานประกันสังคม แต่ต้องส่งใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์ฉบับจริงมายังสำนักงานประกันสังคมที่ผู้ประกันตนเลือกยื่นเรื่องขอรับสิทธิประโยชน์   

 

สำหรับสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมผู้ประกันตนจะได้รับค่าบริการทางการแพทย์ ในกรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด ได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ไม่เกิน 900 บาทต่อปี ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ภายในปีปฏิทิน (มกราคม - ธันวาคม) โดยไม่สามารถสะสมยอดไปในปีถัดไปได้ และสามารถยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนได้ภายใน 2 ปี ตั้งแต่วันที่ขอรับบริการทางการแพทย์ 

หากพบข้อขัดข้องในการใช้ระบบสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 02 956 2400 ในวันเวลาราชการ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น.