เปิดงบ-แผนกู้ซาก "เรือหลวงสุโขทัย" 100 ล้านบาท ทร.ชี้จำเป็นต้องกู้ขึ้นบก
เปิดงบและแผนกู้ซาก "เรือหลวงสุโขทัย" อับปาง คาดใช้เงิน 100 ล้านบาท บอกเหตุผลจำเป็นต้องกู้ขึ้นบก ทร.จะดำเนินการเป็นขั้นตอนสุดท้ายของภาระกิจ
พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึกออนไลน์ ถึงแผนการกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" และการเร่งค้นหากำลังพลที่สูญหายจำนวน 23 นาย ว่า สำหรับแผนการกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" หลังจากที่อับปางกลางทะเลอ่าวไทยบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กองทัพเรือ (ทร.) ได้วางแผนเบื้องต้นโดยจะต้องเริ่มจากการสำรวจจุดที่เรืออัปปางก่อน พร้อมกับตรวจสอบว่ามีกำลังพลที่สูญหายติดค้างอยู่ภายในเรือหรือไม่ เพราะภารกิจค้นหากำลังพลที่สูญหายถือว่าเป็นภารกิจหลักที่ ทร. จะต้องเร่งดำเนินการก่อน
หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบสภาพ "เรือหลวงสุโขทัย" ให้ชัดเจนเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการอับปางอีกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณใต้ท้องเรือ เพื่อพิสูจน์ว่ามีรอยแตก รอยรั่วหรือไม่ เพราะ ทร.จำเป็นจะต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าก่อนเกิดอับปางเกิดอะไรขึ้น รวมถึงเพื่อดูว่าจะสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เรือที่อับปางไปแล้วก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก
พล.ร.อ.ปกครอง กล่าวต่อว่า สำหรับการกู้ซาก "เรือหลวงสุโขทัย" ขึ้นมาจากใต้ทะเลนั้นเนื่องจาก ทร. ไม่มีความเชี่ยวชาญและไม่มีประสบการณ์ ดังนั้นการดำเนินกู้เรือหลวงสุโขทัย จำเป็นจะต้องให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการให้ เพราะจะมีความเชี่ยวชาญในการกู้ซากเรือมากกว่า โดยการดำเนินการกู้ซากเรือจะอยู่ในความดูแลของ กรมอู่ทหารเรือ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดหาเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาดำเนินการ เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณในการกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" ประมาณ 100 ล้านบาท โดยกระบวนในการดำเนินการจะเป็นการเปิดประกวดราคา ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของราชการ
พล.ร.อ.ปกครอง ระบุว่าต่อ สำหรับสาเหตุที่ ทร. จำเป็นจะต้องกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" ขึ้นมานั้น เพราะป้องกันน้ำมันที่ยังมีอยู่ในตัวเครื่องรั่วลงสู่ทะเล ซึ่งหากน้ำมันรั่วออกสู่ทะเลจะถือว่าเป็นอันตรายมาก ๆ และป้องกันการกีดขวางการเดินเรือของเรือลำอื่น ๆ เพราะระดับความลึกที่เรือหลวงสุโขทัยจมลงไปนั้นมีระยะเพียง 40 เมตรเท่านั้นในระยะดังกล่าวจะทำให้เกิดการกีดขวางเรือเดินทะเลน้ำลึก ซึ่งแตกต่างจาก เรือไททานิค ที่มีการอับปางในทะเลที่มีความลึก 100 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ลึกมาก และไม่กีดขวางการเดินรือน้ำลึกลำอื่น ๆ อีกทั้งหากปล่อยให้เรือจมอยู่ใต้น้ำโดยที่ไม่ได้กู้ขึ้นมาจะเกิดกรณีที่คลื่นซัดและตัวเรือเคลื่อนที่ไม่กีดขวางเรือลำอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตามแผนการ กู้เรือหลวงสุโขทัย จะดำเนินการเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพราะภาระกิจหลักขณะนี้คือการค้นหากำลังพลที่สูญหายให้เจอทุกนายก่อน
"ที่ผ่านมาทร.ไม่เคยประสบเหตุการณ์ร้ายแรงทางทะเลมาก่อน หลัก ๆ ภาระกิจของ "เรือหลวงสุโขทัย" คือ การป้องกันน่านน้ำและให้ความช่วยเหลือเรือเดินทะเลที่ประสบอุบัตเหตุ ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ "เรือหลวงสุโขทัย" อับปางครั้งนี้ถือเป็นการสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์ของ ทร. เพราะที่ผ่านตั้งแต่ในอดีตไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากจะทำให้เราสูญเสียกำลังพลไปแล้ว ยังส่งผลไปถึงการสูญเสียงบประมาณ กว่า 1,000 ล้านบาท ยอมรับว่าครั้งนี้มีผลกระทบอย่างมาก" พล.ร.อ.ปกครอง กล่าวทิ้งท้าย