ข่าว

กำชับดูแลปัญหา "วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ"  สั่งยกระดับเฝ้าระวัง แจ้งเตือน

กำชับดูแลปัญหา "วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ" สั่งยกระดับเฝ้าระวัง แจ้งเตือน

26 ธ.ค. 2565

รัฐบาลกำชับป้องกันแก้ไขปัญหา "วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ" ปี 2566 สั่งการยกระดับเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชน ห่วงคนเหนือป่วยเพราะฝุ่น

26 ธันวาคม 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า "วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ"  ปี 2566 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมีหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ร่วมรับฟังนโยบายเพื่อนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ พลเอกประวิตร  เน้นย้ำว่าปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด

 

โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน ต้องบูรณาการป้องกันและแก้ไขให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ครอบคลุม "เมือง ป่า เกษตร" 
 

พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้มงวดกวดขัน ทุ่มเทสรรพกำลังองค์ความรู้ และทรัพยากรอย่างเต็มกำลังความสามารถ และประสานงานกันในการดำเนินงาน ปฏิบัติการขับเคลื่อนตาม “แผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านและป้องกัน "วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ" ปี 2566 บนหลักการ “สื่อสารเชิงรุก – ยกระดับปฏิบัติการ – สร้างการมีส่วนร่วม โดย

1. สร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูล ปรับรูปแบบการรายงานข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ให้น่าสนใจ เข้าถึงง่ายเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก
2. สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน นำความเห็นของพี่น้องประชาชนมาปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
3. การป้องกัน และแก้ไขปัญหาต้องเป็นเอกภาพ การรับผิดชอบ กำกับดูแลพื้นที่ต้องไม่เกิดช่องว่าง หรือพื้นที่เกรงใจ และต้องไม่เกิดปัญหา ว่าไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบไม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างจังหวัด หรือระหว่างหน่วยงาน
4. ผู้ว่าราชการจังหวัด บริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ใช้ระบบ Single command มีการจัดทำประกาศจังหวัดในสถานการณ์ต่างๆ การเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และบูรณาการสั่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุกพื้นที่/ทุกระดับ ทั้งอำเภอ ตำบล (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน

 

พล.อ.ประวิตร  ได้กำชับลงไปยังกระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงกลาโหม ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการแก้ปัญหา "วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ" โดยการเตรียมความพร้อมในทุกด้านทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ และกำลังพล สร้างความเข้าใจและความตระหนัก ให้ประชาชน ดูแลรักษา ไม่ให้เกิดปัญหาไฟป่าและการเผาในที่โล่ง พร้อมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการดำเนินงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการรายงานสถานการณ์ คาดการณ์ ประเมินความเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ สภาพอุตุนิยมวิทยา การคาดการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า การพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ และการประเมินพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟ โดยใช้ ข้อมูลจุดความร้อนและพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก 

 

นอกจากนี้ ยังได้ให้ขยายผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ทั้งการ ชิงเก็บ ลดเผา และ การใช้ระบบบริหารการเผาในที่โล่ง เพื่อควบคุมการเกิดไฟในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรซึ่งจะเป็นแนวทางในการลด  "วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ"  ผ่านการมุ่งเน้นการเก็บเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าและรายได้ให้กับชุมชน บนหลักการ BCG สำหรับพื้นที่เมือง ให้เข้มงวดกวดขัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับรถที่ระบายสารมลพิษ โดยเฉพาะควันดำ และให้จัดระบบการจราจรให้คล่องตัวในช่วงสภาวะอากาศปิด และประสานเอกชนในการช่วยเหลือประชาชนในการตรวจสภาพรถยนต์และเปลี่ยนอะไหล่ราคาถูก รวมทั้งตรวจสอบ กำกับ ดูแลโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด และขยายผล/เพิ่มประสิทธิภาพให้มีการลดการเผาอ้อย ให้บรรลุเป้าหมายและมาตรการที่ตั้งไว้ สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดน ให้ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ตามกลไกอาเซียน ผลักดันให้ประเทศสมาชิกตั้งเป้าหมายร่วมกันในการลดจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ 

 

สำหรับการดูแลสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ยกระดับการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน ให้จัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรคให้พร้อม จัดสถานที่รองรับหากเกิดสถานการณ์ปัญหาจากฝุ่นละอองที่รุนแรงให้เพียงพอและครอบคลุม และให้หมั่นตรวจสุขภาพของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร เพื่อรักษาก่อนการปฏิบัติงานและระวังตัวเองในการปฏิบัติงาน 

 

ภายหลังการประชุม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่เมือง ป่า และเกษตร โดยพื้นที่เมือง เข้มงวดการตรวจยานพาหนะควันดำ โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ พื้นที่ป่า ต้องไม่มีการเผาโดยเด็ดขาด และพื้นที่การเกษตร จะมีการบริหารจัดการวัสดุทางการเกษตรโดยการนำไปใช้ประโยชน์ และต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว