ลุ้น กองทัพอากาศ จัดซื้อ เครื่องบิน "F-35A" ชัดเจนกลางปี 2566
"ผบ.ทอ." ย้ำ โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A ชัดเจน กลางปี 2566 เผยแนวทาง เตรียมปรับปรุงยุทธศาสตร์-สมุดปกขาว กำหนดแผนจัดซื้อ อาวุธยุทโธปกรณ์ ใหม่
(1 ม.ค.2566) พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยถึงนโยบายการซ่อมบำรุงและจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ว่า กองทัพอากาศมีการซ่อมอาวุธยุทโธปกรณ์ตามห้วงเวลา และระยะเวลาในการใช้งานให้เป็นไปตามขีดความสามารถ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ หากสิ่งใดสามารถซ่อมบำรุงได้ ก็จะดำเนินการอย่างถึงที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการงบประมาณ
สำหรับสมุดปกขาวของกองทัพอากาศ ที่เรียกว่า White Paper เป็นแผนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วง 5-10 ปี แต่จะต้องมีการทบทวน เพราะช่วงเวลาในแต่ละปี แผนขอจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ ไม่ได้รับเท่าที่เสนอขอไป จึงต้องมีการปรับความต้องการในแผนภูมิปกขาวทุก 3 -5 ปี ซึ่งในปี 2566 นี้ จะต้องมีการปรับปรุงทั้งแผนยุทธศาสตร์และสมุดปกขาวต่อไป
ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A จากสหรัฐอเมริกาว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับทางสหรัฐฯ ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมาดูจุด และพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้าประจำการของ F-35A หากการจัดเป็นไปตามแผน คาดว่าภายในกลางปีหน้า ทุกอย่างจะมีความชัดเจน
ทั้งนี้ แม้การประสานกับทางสหรัฐฯ เพื่อจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A จะเป็นเรื่องภายในของกองทัพอากาศ ภายใต้กระทรวงกลาโหม แต่เชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศ ก็จะช่วยให้การสนับสนุนเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนแนวคิดในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ เช่น ระบบเรดาห์แจ้งเตือนทางอากาศ หรือ Erieye นั้น ก็ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น ใช้สำหรับการลาดตระเวน หรือที่เรียกว่า Airborne Warning Radar ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงสภาพเพราะผ่านการใช้งานมาเป็น 10 ปี รวมทั้งจัดหาเรดาร์ใหม่ โดยจะต้องเตรียมการในแผนเสนอความต้องการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อไป
เครื่องบิน F-35 เป็นเครื่องบินรบที่ผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทด้านอากาศยาน เทคโนโลยีอวกาศ และยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศระดับโลกสัญชาติอเมริกัน เริ่มขึ้นบินครั้งแรกในปี 2549 ปัจจุบันมี 3 รุ่น ได้แก่ F-35A, F-35B และ F-35C
- F-35A - ออกแบบเพื่อใช้งานบินขึ้นลงปกติบนรันเวย์สนามบิน
- F-35B - ออกแบบเพื่อใช้งานบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งบนเรือบรรทุกเครื่องบิน หรือภารกิจอื่น ๆ ที่ไม่มีรันเวย์สำหรับเครื่องบิน
- F-35C - ออกแบบเพื่อใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินโดยเฉพาะ มีปีกใหญ่กว่ารุ่นอื่น ๆ
ทั้งนี้ เครื่องบินรบ F-35 ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินล่องหน เนื่องจากคุณสมบัติสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ จึงสามารถเจาะลึกเข้าไปในน่านฟ้าของศัตรูโดยไม่ปรากฏบนจอเรดาร์ โดยเครื่องบิน F-35A รุ่นที่กองทัพอากาศไทยต้องการ มีคุณลักษณะเด่น ตามข้อมูลของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ดังนี้
- แรงขับเคลื่อนขั้นสูง - 43,000 ปอนด์ ทำความเร็วได้สูงสุด 1.6 มัค หรือ 1,931 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเพดานบินได้สูงสุด 50,000 ฟุต
- ระบบเซนเซอร์ขั้นสูง - รวบรวมและแสดงข้อมูลได้มากกว่าเครื่องบินรบลำใด ๆ ในประวัติศาสตร์ ทำให้นักบินได้เปรียบเชิงข้อมูล เพื่อตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในปฏิบัติการสู้รบ โดยแสดงผลผ่านหน้าต่างช่องมองของหมวกนิรภัย
- ระบบศูนย์เล็งยิงติดหมวก - ระบุเป้าหมายและยิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความสามารถในการล่องหน - หลีกเลี่ยงการตรวจจับด้วยเรดาห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครื่องบินขับไล่ F-35 เป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก และนับจนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ตัดสินใจขาย F-35 ให้กับกองทัพของประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดเท่านั้น ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีเพียงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่ได้ครอบครอง F-35