"ติดเชื้อโควิด" มีปัญหาด้าน ความจำ ส่งผลกระทบการใช้ชีวิต
โควิด ไม่กระจอก "หมอธีระ" ยกผลวิจัย "ติดเชื้อโควิด" มีปัญหาด้าน ความจำ ส่งผลกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ
“หมอธีระ” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 2 มกราคม 2565 ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 232,270 คน ตายเพิ่ม 532 คน รวมแล้วติดไป 665,020,868 คน เสียชีวิตรวม 6,697,458 คน โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้ (1 มกราคม 2565) จำนวนติดเชื้อโควิดใหม่ มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.08 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 93.6
“หมอธีระ” ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโควิด ซึ่งผลวิจัยระบุว่า มีปัญหาด้านความจำ โดย Miskowiak KW และคณะ จากประเทศเดนมาร์ก ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ Journal of Affective Disorders เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำการประเมินในผู้ป่วยที่มารับบริการที่คลินิก Long COVID จำนวน 194 คน ซึ่งเคยมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนเฉลี่ย 7 ± 4 เดือน โดย 91 คน ติดเชื้อแล้วต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และ 103 คน ไม่ได้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่า มีถึง 44-53 % ที่มีปัญหาด้านความคิดความจำ (cognitive impairment)
โดยมีการตรวจพบ ทั้งเรื่องความจำในระหว่างการทำงาน รวมถึงปัญหาในการจัดการและตัดสินใจ ความสามารถในการสื่อสารโดยการพูด ทั้งกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วนอนรักษาในโรงพยาบาล และกลุ่มที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนั้น ต่างก็ประสบปัญหาด้านความคิดความจำในลักษณะเดียวกัน และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสมรรถนะในการใช้ชีวิตและการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความจำพบบ่อยขึ้นในกลุ่มสูงอายุ มีโรคประจำตัว หรือติดเชื้อโควิดจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งหมอธีระย้ำว่า สถานการณ์ของไทยเราในปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด
หลังเดินทางท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์ ไปร่วมกิจกรรมรื่นเริงปีใหม่ที่ผ่านมา ควรประเมินความเสี่ยงของตนเอง สังเกตอาการผิดปกติ หากไม่สบาย ควรตรวจ ATK ด้วยตนเองทันที ถ้าเป็นบวก แปลว่าติดเชื้อ จำเป็นต้องแยกตัวจากคนอื่น 7-10 วัน จนกว่าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจซ้ำได้ผลลบ แต่หากไม่สบาย ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ ให้ตรวจซ้ำอย่างน้อย 3 วันติดกัน เพราะอาจเป็นผลลบปลอมได้ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
นอกจากนี้ หมอธีระ ยังระบุว่า ในปี 2566 นี้ ยังไม่สามารถประกาศว่า โควิดเป็นหวัดธรรมดา หรือ ไข้หวัดใหญ่ ตามฤดูกาลได้ เพราะข้อมูลวิชาการและข้อมูลสถานการณ์ระบาด ติด ป่วย ตาย ที่เห็นกันอยู่ทั่วโลกนั้น ชี้ชัดว่าไม่เป็นเช่นนั้นการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน เดินทางท่องเที่ยว ควรดำเนินไปด้วยความไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร
แต่ละประเทศควรหายาต้านไวรัสมาตรฐาน ที่เป็นที่ยอมรับ ได้แก่ Paxlovid, Remdesivir, และ Molnupiravir เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึง และทันต่อสถานการณ์ การจัดหาวัคซีน Bivalent เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมรับแรงกระเพื่อมจากการระบาดของสายพันธุ์ไวรัสใหม่ที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องจำเป็น