ข่าว

นักวิชาการ ซัด เสี่ย "เบนท์ลีย์" ซิ่งชน ปัดเป่า แอลกอฮอล์ มีเงิน เมินกฎหมาย

นักวิชาการ ซัด เสี่ย "เบนท์ลีย์" ซิ่งชน ปัดเป่า แอลกอฮอล์ มีเงิน เมินกฎหมาย

10 ม.ค. 2566

นักวิชาการ ซัด เสี่ย "เบนท์ลีย์" ซิ่งชนบนทางด่วน ปัดเป่า แอลกอฮอล์ มีเงิน เมินกฎหมาย ก่ออุบัติเหตุ "เมาแล้วขับ" ซ้ำซาก

จากกรณีที่เมื่อกลางดึกวันที่ 8 ม.ค.2566 เกิดเหตุรถยนต์หรูยี่ห้อเบนท์ลีย์ สีเทา ของนายทุนพรรคการเมืองใหญ่ ทำธุรกิจซื้อขายทำตลาดสด และขายวัสดุก่อสร้าง ขับซิ่งแซงซ้าย พุ่งชนรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ ปาเจโร สีดำ ก่อนชนเข้ากับรถดับเพลิง อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยมัสยิดฮารูณ ที่กำลังมุ่งหน้าไปช่วยเหลือผู้ติดค้างเหตุไฟไหม้ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ รวม 4 ราย และรถยนต์คู่กรณีได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุคนขับเบนท์ลีย์ พยายามหลบหนี และมีอาการคล้ายเมาสุรา ไม่ให้มีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยอ้างว่า มีอาการเจ็บหน้าอก

 

(10 ม.ค.2566)  ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เปิดเผยว่า กรณีที่เกิดขึ้นทราบว่า ผู้ขับรถหรูมีอาการมึนเมา จึงขอให้มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แต่เจ้าตัวกลับไม่ยอม และพยายามไปดื่มน้ำ ก่อนจะมาทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ผู้ขับรถยนต์หรูเบนท์ลีย์ ขอตรวจเลือดที่โรงพยาบาล โดยอ้างว่ามีอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งคาดว่าผลการตรวจจะออกอย่างเร็วสุดใน 7 วัน 

ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมไม่มีการตั้งข้อหาเมาแล้วขับ ทั้งที่มาตรา 142 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 ที่ระบุว่า หากมีพฤติการควรเชื่อว่าเมาแล้วขับ แต่ไม่ยินยอมตรวจวัดแอลกอฮอล์ในที่เกิดเหตุ โดยไม่มีเหตุอันควร ให้สันนิษฐานไว้เลยว่า เป็นการเมาแล้วขับ

 

“ในกรณีนี้ผมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หากไม่เมาจริง ๆ จะกลัวการเป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ทันทีในที่เกิดเหตุทำไม ซึ่งตามมาตรา 142 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 ระบุว่า “ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2)” นั่นคือ การขับรถในขณะเมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่น แต่ก็ยังไม่มีการตั้งข้อหาว่าเมาแล้วขับ” ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าว

เบนท์ลีย์ชนปาเจโร

ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าวต่อว่า จากหลักฐานวิชาการ ประกอบข้อแนะนําสำหรับบุคคลที่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2565 พบว่า ระดับของแอลกอฮอล์จะลดลงประมาณ 15-20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมงในคนทั่วไป และประมาณ 25-35 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมงในผู้ดื่มประจำมาเป็นระยะเวลานาน 

เบนท์ลีย์ชนปาเจโร

ดังนั้น การที่ผู้ก่อเหตุขอตรวจเลือดในภายหลัง ย่อมมีผลต่อระดับปริมาณแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน บวกกับที่พยายามจะดื่มน้ำ ก็จะยิ่งทำให้กระเพาะและสำไส้ดูดซึมแอลกอฮอล์ได้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งสังคมจะต้องยอมรับกับผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ซ้ำ ๆ จากความประมาท และพยายามที่จะเลี่ยงความผิด จากการดื่มแล้วขับ เพียงเพราะเป็นคงดัง รวย และมีอำนาจเช่นนั้นหรือ.