เปิด "พ.ร.บ.ขายตรงฯ" ฉบับแก้ไขใหม่ ผู้ขายต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
จากกรณีตำรวจ บก.ปคบ. ดำเนินคดี “นอท กองสลากพลัส” มีความผิด "พ.ร.บ.ขายตรงฯ" เกี่ยวกับการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล แล้ว "พ.ร.บ.ขายตรงฯ" ฉบับแก้ไขใหม่ มีคุณสมบัติอะไรบ้าง
จากกรณี “นอท กองสลากพลัส” หรือ นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ และ นายจตุภัทร บุญสุวรรณ์ กรรมการ บริษัท กองสลากพลัส ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด พร้อมทนายความ เข้าพบ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. และ พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ รองผกก.สอบสวน กก.2 บก.ปคบ.ตามหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา มีความผิด "พ.ร.บ.ขายตรงฯ" หรือ ร่วมกันประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยไม่ได้จดทะเบียน และร่วมกันเสนอจำหน่าย และจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคาที่กฎหมายกำหนด
หลายคนคงจะสงสัยแล้ว "พ.ร.บ.ขายตรงฯ" ฉบับแก้ไขใหม่ ปี2560 ผู้ประกอบการต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างในการจดทะเบียนวันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพามาดูกัน
"พ.ร.บ.ขายตรงฯ" กำหนดคำนิยาม ตลาดแบบตรง ใหม่ ชัดเจนขึ้น
คำว่า "ตลาดแบบตรง" ในบทนิยามของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นการทำสินค้าหรือการบริการในลักษณะขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายซื้อขายสินค้าหรือบริการจากธุรกิจประเภทนี้ ถ้าเรียกง่ายๆ ธุรกิจประเภทนี้หมายถึง การขายสินค้าหรือบริการผ่านเว็บไซต์ และรวมไปถึงสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์
โดย เฟซบุ๊กเพจ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เคยอธิบายไว้ว่า "ตลาดแบบตรง" ไม่รวมถึงการขายสินค้าผ่านอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก และไม่รวมถึงการไปฝากขายของบนเว็บกลางสำหรับการซื้อขาย
จากคำนิยามดังกล่าวที่ไม่ได้รวมอินสตาแกรมกับเฟซบุ๊กเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจตลาดแบบตรง พ.ร.บ.ขายตรงฯ (ฉบับที่ 3) จึงแก้ไขโดยเพิ่มถ้อยคำว่า "ส่วนการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เพียงแค่เปิดช่องทางให้หลังจากนี้มีการออกกฎกระทรวงควบคุมการขายสินค้าผ่านอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กตามมา และเนื้อหาจะเป็นอย่างไรยังต้องติดตามดูต่อ
กำหนดคุณสมบัติผู้ขอยื่นจดทะเบียน "พ.ร.บ.ขายตรงฯ" ฉบับใหม่
พ.ร.บ.ขายตรงฯ ฉบับนี้ กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการยื่นจดทะเบียนธุรกิจทั้งแบบขายตรงและ ตลาดแบบตรง โดย
ผู้ที่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ต้องเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกับคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ
1. ผู้ที่ขอยื่นจดทะเบียนต้องไม่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนมาก่อนภายใน 5 ปี
2. ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท ถ้าเป็นบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
3. หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบดำเนินการต้องไม่มีลักษณะข้อห้ามดังต่อไปนี้
3.1 ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
3.2 ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3.3 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่โทษที่กระทำความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
3.4 มีหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นหรือบริษัทอื่น
3.5 เคยเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนหรือบรษัทที่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนในระยะ 5 ปี ก่อนวันยื่นจดทะเบียน
4. ต้องวางหลักประกันแก่นายทะเบียน เป็นเงินสด หรือพันธบัตร ตามจำนวนที่จะกำหนดต่อไปในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ขอยื่นจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำเร็จแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงมีหน้าที่จัดส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้ สคบ. ทราบ เมื่อมีการย้ายสำนักงานก็ต้องแจ้งให้ สคบ. ทราบเช่นกัน
สำหรับธุรกิจขายตรงใดไม่ดำเนินการจดทะเบียนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ายังฝ่าฝืนไม่จดทะเบียนอีกก็จะปรับเพิ่มอีกวันละ 20,000 บาทจนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
ส่วนธุรกิจตลาดแบบตรงต้องระวางโทษปรับและโทษจำคุกเท่ากับธุรกิจขายตรง แต่ค่าปรับจากการฝ่าฝืนไม่จดทะเบียนให้ปรับเพิ่มวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
ปรับหนักผู้ประกอบการ เพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภค
กฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังเพิ่มหน้าที่และภาระรับผิดชอบให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรงมากขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าของธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงจะต้องจัดทำเอกสารการซื้อขาย โดยมอบเอกสารให้แก่ผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรงเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือการบริการ เอกสารนั้นจะต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่อ่านเข้าใจง่าย ระบุชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย วันที่ซื้อขายและวันที่ส่งมอบให้ชัดเจน รวมทั้งสิทธิในการบอกเลิกสัญญา ซึ่งข้อความเรื่องสิทธิในการบอกเลิกสัญญาต้องเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป
สำหรับโทษของเจ้าของธุรกิจที่ไม่จัดทำเอกสาร หรือผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรงไม่ส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้จะต้องจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ถ้าหากเจ้าของธุรกิจจัดเอกสารการซื้อขายสินค้าอันเป็นเท็จจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากเจ้าของธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ให้ สคบ. ดำเนินการตรวจสอบ ถ้าหากการตรวจสอบพบว่า เป็นความเสียหายที่เกิดจากเจ้าของธุรกิจจริง สคบ. จะจ่ายค่าชดเชยโดยใช้เงินจากหลักประกันที่เจ้าของธุรกิจวางหลักประกันไว้ตั้งแต่แรกเริ่มขอจดทะเบียน แต่ถ้าหากเงินประกันไม่เพียงพอ สคบ. ก็สามารถสั่งให้เจ้าของธุรกิจเพิ่มวงเงินประกันจนเพียงพอภายใน 15 วัน ได้ ถ้าหากเจ้าของธุรกิจไม่ดำเนินการเพิ่มวงเงิน สคบ. ก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้เช่นกัน
เมื่อเจ้าของธุรกิจต้องการเลิกกิจการ เจ้าของธุรกิจมีหน้าที่ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือสื่อสารข้อมูลทางด้านอื่นๆ ให้ผู้บริโภคที่มีสินค้าหรือการบริการอยู่ในประกันทราบถึงการเลิกกิจการ และยังต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบในการดูแลซ่อมแซมสินค้าจนกว่าจะหมดประกันด้วย
สำหรับธุรกิจขายตรงห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัคร ค่าฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขายหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ถ้าฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ