กรมฝนหลวงฯ เตรียม 4 แผนดูแล "ภัยแล้ง" ช่วยเกษตรกร ลดปัญหาฝุ่นควัน
กรมฝนหลวงฯ เตรียม 4 แผนดูแล "ภัยแล้ง" ช่วยเกษตร ลดปัญหาหมอกควัน เติมต้นทุนน้ำในอ่าง เริ่มปฏิบัติการ 15 ก.พ. นี้
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เพื่อเตรียมการช่วยเหลือและบรรเทา "ภัยแล้ง" อันจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและประชาชนในช่วง ฤดูแล้ง นี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำหนดแผนภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566 ไว้ 4 แผนหลัก
1. ภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 2. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ 3. การบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า 4. ภารกิจยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ โดยแผนที่ 1-3 จะอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-30 กันยายน 2566 และ แผน 4 ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์-31 พฤษภาคม 2566
ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯ ได้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พบว่าสภาพอากาศของประเทศโดยรวมยังอยู่ในภาวะปกติ และในปี 2566 นี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ จำนวน 19 หน่วย ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในภูมิภาคทั้ง 7 แห่ง พร้อมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือ ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำหลัก ในพื้นที่ 77 จังหวัด ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
สำหรับภารกิจป้องกันและแก้ไข "ภัยแล้ง" ด้วยการปฏิบัติการฝนหลวงสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ เพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรรมโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมทั้ง ประสานและบูรณาการงานร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศที่ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ และเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เป็ฯการสำรองน้ำไว้เป็นน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรและการอุปโภค-บริโภคต่อไป
รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวต่อว่า กรมฝนหลวงฯ ยังเตรียมแผนการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อแก้ไขสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10 และ PM 2.5) รวมถึงปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ เพื่อป้องกัน-ลดการเกิดปัญหาไฟป่า รวมไปถึงการดับไฟป่า นอกจากนี้ยังได้เตรียมแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาและลดความเสียหายจากการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่เกษตรกรรมและเขตชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย
อย่างไรก็ตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงดังกล่าว สามารถปรับแผนได้ตามสถานการณ์ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และสอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สถานการณ์น้ำ ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ในขณะนั้น ตลอดจนให้ตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด
การปฏิบัติการ ฝนหลวง ในฤดูร้อนที่จะมาถึงนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการเกษตร รวมถึงการจัดการทรัพยากรน้ำ บำรุงทรัพยากรดินอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ผลผลิตทางการเกษตรโดยรวม นำไปสู่ความมั่นคงด้านอาหารของประเทศในที่สุด นายสุพิศ กล่าวสรุป