ข่าว

"โจรออนไลน์" ภัยไซเบอร์ ร้าย ปม เด็ก 15 ปลิดชีพ หลังตกเป็นเหยื่อ

"โจรออนไลน์" ภัยไซเบอร์ ร้าย ปม เด็ก 15 ปลิดชีพ หลังตกเป็นเหยื่อ

12 ม.ค. 2566

สรุปประเด็นร้อน "โจรออนไลน์" ภัยไซเบอร์ ร้าย ปมเด็ก 15 ปลิดชีพตัวเอง หลังตกเป็นเหยื่อ สถิติพบ สูงเป็นอันดับ 2 ถูกหลอกลงทุนออนไลน์

อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่สะเทือนสังคม กรณีเด็กชายวัย 15 ปี ไร้ทางออก ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง พร้อมทิ้งจดหมายลาตาย แฉแชทขบวนการที่หลอกให้ลงทุนจนสูญเงินไปหลายหมื่นบาท เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ ซึ่งจากสถิติพบว่า ปัจจุบัน การถูกลงทุนออนไลน์ จากแก๊งโจรออนไลน์ มีมากขึ้น และมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

 

สรุปประเด็น เด็ก 15 ไร้ทางออก ถูกหลอกลงทุนออนไลน์

 

1. วันที่ 8 มกราคม 2566 ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รับแจ้งเหตุ ชายผูกคอเสียชีวิตในป่า ซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 34 เมื่อเข้าไปตรวจสอบพบว่า เป็นนักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่ง อายุ 15 ปี ใช้เชือกไนล่อนผูกคอตัวเอง เสียชีวิตกับกิ่งไม้ ใกล้จุดพบศพ พบโทรศัพท์มือถือ และจดหมายลา เขียนขอโทษแม่ ที่แอบขโมยเงินไป เป็นเพราะความโลภของตัวเอง พร้อมเปิดข้อมูล ถ้าอยากรู้เรื่องราว ให้เปิดดูโน้ต และ ข้อความใน Line 

2. เมื่อเปิดดูข้อความในโทรศัพท์มือถือ ที่นักเรียนวัย 15 ปี แจ้งไว้ พบข้อความอยู่ในโน้ต ระบุข้อความว่า “ขอโทษแม่กับพ่อด้วยที่ทำแบบนี้ผมโลภเอง อยู่ไปก็คงไม่ได้มีอะไรดีขึ้นหรอก แต่ถ้าผมตายแล้วให้เข้าไปดูในไลน์ แล้วจับให้ได้ ดันข่าวให้เป็นถึงที่สุด เพราะว่าคนแบบนี้มีเยอะเกินไป ขอให้เคสผมเป็นเคสที่มีไว้บอกเด็กเป็นอุทาหรณ์นะครับ ว่าอย่าไปเชื่อคนพวกนี้มาก และถ้าได้เงินจากพวกมันแล้ว ก็ขอให้ก็เรียกเก็บเยอะ ๆ นะ แล้วเอาไปซื้อบ้านใหม่" 

 

3. จากการตรวจสอบพบว่า นักเรียนชั้น ม.3 วัย 15 ปี ถูกหลอกลงทุนออนไลน์ โดยนำเงินครอบครัวไปลงทุนต่อเนื่อง มีการโอนไปแล้ว 5 ครั้ง จำนวน 15,000 บาท ซึ่งกลโกงทั้งหมด ถูกแฉผ่านแชทไลน์ที่เด็กวัย 15 ปี ตั้งใจเปิดโปง 

 

แฉแชทโกงออนไลน์

4. พ่อและแม่ของเด็กวัย 15 ปี เข้าร้องต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตำรวจไซเบอร์ ให้เร่งล่าตัวขบวนการโจรออนไลน์ที่กำลังเป็นภัยต่อสังคม โดยเฉพาะเด็กที่กำลังตกเป็นเหยื่อได้ง่าย พบว่า ผู้ก่อเหตุมีความเชี่ยวชาญด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในการหลอกลวงผู้เสียหาย เพราะหลังจากรับเงินจากผู้เสียหายสามารถโอน หรือยักย้ายถ่ายเทไปเป็นสกุลเงินดิจิทัลได้ทันที เพื่อจงใจหลบหลีกการตรวจสอบของตำรวจ

 

5. ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ออกหมายจับบัญชีม้าทั้งหมด 8 ราย ตามรวบได้ 2 คน 1 ในนั้น รับสารภาพ รับจ้างเปิดบัญชีม้าให้แก๊งมิจฉาชีพที่ลวงเด็ก15 จริง ซึ่งได้ค่าจ้าง 100/บัญชี และจะได้รับเงินตอบแทนอีก 400/เดือน แต่ทั้งหมดเป็นเพียงแค่บัญชีม้า ตัวการใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชี Instagram ยังสาวไม่ถึง เพราะมีความเชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ และมีการปกปิดตัวตนโปรไฟล์เป็นอย่างดี แต่ตำรวจก็มั่นใจว่า ไม่เกิน 2 วัน จะจับกุมตัวได้ 

 

แฉแชทโกงออนไลน์

เปิดพฤติกรรมโจรออนไลน์

 

  1. กลุ่มมิจฉาชีพ จะนำลิงก์โฆษณาชักชวนให้ดูยูทูป ไปแปะตามแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่มีคนติดตามจำนวนมาก โดยอ้างว่า จะมีรายได้พิเศษจากการดูยูทูป ในจำนวนต่าง ๆ
  2. เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ กดลิงก์ติดต่อเข้าไป ก็จะถูกชักจูง หว่านล้อมให้นำเงินไปลงทุนซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพื่อทำยอดแทน โดยผู้เสียหายจะต้องจ่ายเงินค่าประกันสินค้าในออนไลน์ต่าง ๆ จนถูกชักจูงให้โอนเงินจากน้อยไปหามาก ตามลำดับ จนในที่สุด จะเป็นยอดเงินที่ผู้เสียหายไม่สามารถโอนต่อไปได้ ประเด็นสำคัญ กลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์กลุ่มนี้ มีตัวการใหญ่อยู่ต่างประเทศ
  3. ไม่เพียงเท่านั้น ปลายทางบัญชีที่รับโอนเงินจากเด็กวัย 15 ปี รายนี้ มียอดเงินอีกจำนวนต่าง ๆ ถูกโอนไปยังบัญชีนี้ด้วยเช่นกัน นั่นหมายวามว่า ยังคงมีเหยื่อถูกหลอกในลักษณะเดียวกันอีกหลายราย

หลอกลงทุนออนไลน์

หวิดซ้ำรอยเดิม

 

  • วันที่ 11 ม.ค.2565 สาวลูกจ้างเทศบาลแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ร้องถูกหลอกโอนเงินให้กับแก๊งโจรออนไลน์ สูญเงินไปเกือบ 1 ล้านบาท ภายใน 2 วัน โดยเจ้าตัวนำหลักฐานการสนทนาผ่านแอปขายของออนไลน์ชื่อดัง เข้าแจ้งความ แฉพฤติการการหลอกลวง เหมือนกับเคสของเด็กวัย 15 ปี ทุกอย่าง รวมทั้งตัวเอง ก็เกือบคิดสั้นฆ่าตัวตาย เพื่อนำเงินประกันมาใช้คืนแม่ที่เธอแอบขโมยถอนออกจากบัญชี แต่มัจจุราชไม่ทันพรากชีวิตเธอไป เพราะยังมีครอบครัวเตือนสติ ช่วยไว้ได้ทัน

หลอกลงทุนออนไลน์

พ.ต.อ.สีหเดช สระกอบแก้ว รองผู้บังคับการ สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 ให้ข้อมูลว่า จากสถิติข้อมูลของศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มีการแจ้งเรื่องหลอกลวงของกลุ่มโจรออนไลน์ทุกรูปแบบ มีเคสในลักษณะการหลอกลวงให้หารายได้พิเศษสูงเป็นอันดับ 2 ที่มีประชาชนผู้เสียหาย ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ประมาณ 2.3 หมื่นเคส หรือคิดเป็น 14% มูลค่าความเสียหายกว่า 2,600 ล้านบาท