NARIT ชวนชม ดาวหางสีเขียว "ดาวหาง" ดวงแรกของปี จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT ชวนชม ดาวหางสีเขียว "ดาวหาง" ดวงแรกของปี แนวโน้มสว่างมองได้ด้วยตาเปล่า เข้าใกล้โลกมากที่สุดระหว่างวันที่ 1 - 2 กุมภาพันธ์ ชมได้จนถึง สิ้นเดือนกุมภาพันธ์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT ได้โพสต์ข้อความ "ช่วงนี้มีดาวหาง แนวโน้มมีความสว่างมากขึ้นจนอาจมองเห็นด้วยตาเปล่า" โดยเชิญชวนให้ชม ดาวหางสีเขียว "ดาวหาง" ดวงแรกของปีที่สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า
โดย ดาวหาง C/2022 E3 หรือ ดาวหางแซดทีเอฟ ที่นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ กำลังโคจรเข้าสู่ตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (Perihelion) ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2023 คาดว่าช่วงดังกล่าวดาวหางจะมีส่วนหางที่ฟุ้งกระจายและส่องสว่างมากที่สุด และ จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดระหว่างวันที่ 1 - 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023
ช่วงดังกล่าว ดาวหางจะสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง อาจเป็นไปได้ที่จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้ด้วยตาเปล่าได้จางๆ ในท้องฟ้าที่มืด แต่เนื่องจากความสว่างของดาวหางเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และหลายครั้งที่ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็ยังไม่เพียงพอที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ อย่างไรก็ตาม นับว่ายังมีจังหวะนานหลายวันที่จะสังเกตเห็นผ่านกล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023
จากข้อมูลของนาซา ผู้สังเกตที่อยู่บริเวณซีกโลกเหนือจะสามารถสังเกตดาวหางได้ในช่วงเช้ามืด ซึ่งกำลังปรากฏเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเดือนมกราคม จากนั้นดาวหางจะปรากฏให้ผู้สังเกตในซีกโลกใต้สังเกตได้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกต ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) คือวันที่ดวงจันทร์ไม่สว่างมาก (จันทร์ดับ หรือดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบางๆ) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2023 จันทร์ดับจะตรงกับวันที่ 22 มกราคม ดังนั้น หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ฟ้าเปิดและไม่มีเมฆบัง จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางในช่วงเวลาดังกล่าวบริเวณกลุ่มดาวมังกร (Draco)
เนื่องจาก "ดาวหาง" เคลื่อนที่ค่อนข้างเร็ว หลังจากวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไปจะเปลี่ยนตำแหน่ง และโคจรห่างจากโลกไปเรื่อยๆ ทำให้ความสว่างค่อยๆ ลดลง แต่ยังคงสังเกตได้จนถึงประมาณสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา พบว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) มีคาบการโคจรครบรอบนานประมาณ 50,000 ปี ซึ่งหมายความว่าการโคจรเข้ามายังระบบสุริยะชั้นในของดาวหางดวงนี้ครั้งล่าสุดอยู่ในช่วงท้ายๆ ของยุคหินเก่า ตรงกับช่วงที่มนุษย์ยุคแรกเริ่ม (นีแอนเดอร์ทาล) อยู่อาศัยบนโลกในช่วงยุคน้ำแข็ง
ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ค้นพบโดยเครือข่ายกล้องตรวจท้องฟ้ามุมกว้าง Zwicky Transient Facility ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 ในช่วงแรกวัตถุนี้มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ 17.3 นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย ซึ่งขณะนั้นโคจรอยู่ภายในวงโคจรดาวพฤหัสบดี ก่อนจะสว่างขึ้นจนนักดาราศาสตร์ทราบว่าเป็นดาวหาง มีค่าอันดับความสว่าง 10 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 และคาดว่าดาวหางดวงนี้อาจมีค่าอันดับความสว่างสูงสุดถึง 6
หมายเหตุ - ค่าอันดับความสว่างปรากฏ (Apparent Magnitude) เป็นค่าที่ใช้บอกความสว่างของวัตถุท้องฟ้า เป็นปริมาณที่ไม่มีหน่วย โดยยิ่งมีเลขน้อยจะยิ่งสว่างมาก ยิ่งมีเลขมากจะยิ่งสว่างน้อย เช่น
ดวงจันทร์เต็มดวง = -12.7
ดาวซิริอุส (Sirius) = -1.3
ดาวบีเทลจุส (Betelgeuse) = 0.6
เนบิวลานายพราน (M42) = 4
>> ตามนุษย์มองเห็นวัตถุที่มีสว่างน้อยที่สุดที่ค่าอันดับความสว่างปรากฏ 6 <<
ภาพถ่ายล่าสุดของ ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) แสดงชั้นโคมา (Coma) ซึ่งเป็นชั้นของฝุ่นแก๊สที่ฟุ้งรอบใจกลางดาวหาง ชั้นโคมาของดาวหางดวงนี้เรืองแสงให้มีออกไปทางสีเขียว และหางดาวหางที่ยาวและจาง
เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ภาพ : NASA