"ดีเอสไอ"โต้กลับ"อัจฉริยะ" ใส่ร้ายฮั้วจัดซื้อเครื่องด๊อง
"ดีเอสไอ" ชี้แจง กรณี"อัจฉริยะ" ใส่ร้ายฮั้วจัดซื้อเครื่องด๊อง ยืนยันทำตามกฎหมาย มีผู้เสนอราคาหลายราย สตง.เคยเข้าตรวจสอบไม่พบความผิด
หลังจากที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ร้องกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ให้ตรวจสอบโดยอ้างว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ทุจริตจัดซื้อชุดเครื่องมือค้นหาโทรศัพท์ระยะใกล้ หรือ เครื่องด๊องจำนวน 1 ชุดมูลค่า 36,700,000 ล้านบาท
ล่าสุดวันนี้ 13 ม.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกชี้แจงว่า การจัดซื้อเครื่องมือพิเศษ ชนิดค้นหาโทรศัพท์ระยะใกล้ ในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว เป็นผู้เสนอโครงการ เพื่อนำมาใช้สืบสวนสอบสวน ไม่มีการจัดซื้อมูลค่าหลักร้อยล้านบาทตามที่ร้องเรียน เนื่องจากการจัดซื้อจำนวน 2 โครงการ รวมมูลค่า 72,500,000 บาท
-ปีงบประมาณ 2564 มูลค่า 36,700,000 บาท ประกาศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564
-ปีงบประมาณ 2565 มูลค่า 35,800,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565
โดยปัจจุบันสามารถนำมาใช้ในการสืบสวนจับกุม พร้อมสนับสนุนกองคดี ไม่น้อยกว่า 15 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
ส่วนการจัดซื้อ ใช้วิธีคัดเลือก เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ใช้ในราชการลับ ตาม มาตรา 56 (1) (ฉ) พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นไปตามข้อเสนอของศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว และเห็นชอบโดยมติที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดและจัดการพัสดุ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงต่อว่า การใช้เครื่องมือดังกล่าว มีผู้เสนอราคาทั้ง 2 ปีงบประมาณ 5-6 ราย แข่งขันและทดสอบการใช้งานตาม ขอบเขตการจ้างงาน หรือ TOR ที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐอื่นเป็นกรรมการภายนอกร่วมเป็นกรรมการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกด้วย และมีประสิทธิภาพ เพราะการจัดซื้อไม่เคยมีผู้เสนอราคาร้องเรียน รวมถึง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่าสามารถใช้งานได้ตามที่กำหนด ไม่มีข้อท้วงติงเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้นการจัดซื้อครั้งนี้จึงเป็นไปตามข้อกฎหมายไม่มีการฮั้ว ตามที่แถลงข่าวข้อมูลเท็จ