โผล่อีก นักวิชาการ แฉ "ซื้องานวิจัย" ทั้งเล่ม เพื่อเชียร์ บุหรี่ไฟฟ้า
ดราม่า "ซื้องานวิจัย" ไม่จบ นักวิชาการ แฉ บริษัทบุหรี่ ซื้องานวิจัย ทั้งเล่ม เพื่อเชียร์ บุหรี่ไฟฟ้า แถมจ้าง นักวิชาการ นักการเมือง ออกข่าวชี้นำ
จากกรณีเกิดประเด็นฉาวในวงการนักวิชาการ หรือ นักวิจัย หลังมีการเปิดโปง การซื้อ-ขาย หรือ ซื้องานวิจัย เพื่อให้ตัวเองได้มีชื่ออยู่บนงานชิ้นนั้น โดยไม่ต้องทำเอง หรือแม้แต่ไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ของตัวเอง แล้วนำไปเคลมเป็นงานของตัวเอง เพื่อขอทุน หรือ อัปเลเวลการทำงาน
ซึ่งพบว่า มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง 2 แห่ง มีชื่อในงานวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงานตัวเอง ซึ่งทางหน่วยงานต้นสังกัด ได้ออกแถลงการณ์ พร้อมตั้งกรรมการสอบ โดยนักวิชาการหลายคนมองว่า พฤติกรรมแบบนี้ ไม่แตกต่างจากการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในวงการราชการ ล่าสุด พบอีก แต่ครั้งนี้เป็นการซื้องานวิจัยทั้งเล่ม เพื่อเชียร์บุหรี่ไฟฟ้า
ซื้องานวิจัย ไม่ใช่มีแค่ขอตำแหน่ง
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า การซื้องานวิจัย ไม่ใช่มีแต่กรณีที่นำมาขอตำแหน่งวิชาการ หรือเพิ่มชื่อเสียงให้กับตัวเอง แต่ยังมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น กรณีบริษัทบุหรี่ ที่มีประวัติการสนับสนุนและแทรกแซงงานวิจัย รวมทั้งซื้อวารสารการแพทย์ชั้นนำ ให้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ตนเองสนับสนุน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ
โดยเมื่อปี 2564 บริษัทบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อดัง จ่ายเงินให้วารสาร the American Journal of Health Behavior เป็นเงิน 51,000 ดอลล่าร์ เพื่อซื้อวารสารทั้งฉบับ ให้ตีพิมพ์บทความและงานวิจัยรวม 11 เรื่อง ที่บริษัทสนับสนุน เพื่อเชียร์การใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างประโยชน์ต่อสุขภาพ การลดอันตรายจากยาสูบ (harm reduction) และช่วยเลิกบุหรี่แบบมวน รวมทั้งจ่ายเงินให้กับวารสาร 6,500 ดอลล่าร์ เพื่อให้เปิดการเข้าถึงเป็นแบบสาธารณะที่คนทั่วไปสามารถเข้ามาอ่านได้
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิชาการไทยอย่างน้อย 2 คน ออกมาให้ข่าวสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า และอ้างถึงหลักการลดอันตราย เพื่อเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ในอัตราที่ต่ำกว่าบุหรี่มวน โดยอ้างผลการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งรายงานที่ถูกนำมาอ้าง จัดทำโดยองค์กรที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ และมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่เคลื่อนไหวให้รัฐบาลไทย ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า
เช่น รายงานเรื่อง “optimal taxation of cigarettes and e-cigarettes” สนับสนุนโดย the Reason Foundation เป็นองค์กรที่มีประวัติการรับเงินจากบริษัทบุหรี่มายาวนาน และมักจะเขียนบทความ รายงานที่เป็นประโยชน์กับบริษัทบุหรี่ หรือรายงาน “vapor products, harm reduction, and taxation” จัดทำโดย International Center for Law & Economics ที่มีผู้บริหารเคยทำงานให้องค์กร ที่มีประวัติรับเงินจากบริษัทบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เช่น TechFreedom และ R Street Institute
“อยากฝากไปถึงรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตที่มีข่าวว่า จะกำหนดพิกัดภาษีบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ในการจับกุม/ปราบปรามผู้ที่ลักลอบในการขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้พิจารณารายงาน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบคอบ และไม่นำงานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ หรือมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่มาใช้อ้างอิง เพื่อการกำหนดนโยบายของไทย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ตัวอย่างประเทศที่มีการกำหนดพิกัดภาษีบุหรี่ไฟฟ้า และเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ ที่ไม่ถูกแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
แฉขั้นตอนซื้องานวิจัย
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า พฤติกรรมการซื้องานวิจัยของบริษัทบุหรี่มีมาตั้งแต่อดีต โดยการดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้
- สนับสนุนทุนให้นักวิจัยทำการวิจัย โดยมีการแทรกแซงให้ผลการวิจัยออกมาในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจ
- ซื้อพื้นที่วารสารวิชาการเพื่อนำงานวิจัยที่บริษัทสนับสนุนลงตีพิมพ์และเผยแพร่สู่สาธารณะ
- จ้างนักวิชาการ นักการเมือง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงให้พูดถึงงานวิจัยในเวทีต่าง ๆ รวมทั้งออกข่าวเพื่อชี้นำนโยบาย
- จ้างกลุ่มองค์กรบังหน้าให้ออกมาโจมตี ดิสเครดิตนักวิชาการอื่น ๆ ที่แสดงความเห็นวิจารณ์งานวิจัยที่บริษัทบุหรี่สนับสนุน และดิสเครดิตงานวิจัยที่จะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ
ทั้งนี้ ขอให้นักวิชาการไทย ได้รับทราบถึงมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่ห้ามบริษัทบุหรี่ หรือองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้การอุปถัมภ์ รวมทั้งทุนวิจัยแก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอันจะนำไปสู่การแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ