ฤกษ์ดีวันเด็ก "ลูกเต่ามะเฟือง" 64 ตัว รังแรกของฤดูกาล ออกจากหลุมกลับสู่ทะเล
ทช. ช่วยปล่อย "ลูกเต่ามะเฟือง" ออกจากหลุม ก่อนปล่อยคืนสู่ท้องทะเล 64 ตัว ช่วยนำมาพักฟื้นอีก 4 ตัว ถือเป็นรังแรกของฤดูกาล ที่แม่เต่าขึ้นมาวางไข่ เมื่อ พ.ย.2565
14 ม.ค.2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า เมื่อเวลา เวลา 02.00 น. ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองหาดบางขวัญ จ.พังงา สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (พังงา) และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน แจ้งสถานการณ์เฝ้าระวังหลุมฟักไข่เต่ามะเฟือง หลังตรวจพบการยุบตัวของปากหลุมของรังที่ 1 เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 แต่ไม่พบลูกเต่าขึ้นมาจากหลุมฟักแต่อย่างใด
ทีมสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจึงตัดสินใจเปิดปากหลุมเพื่อให้ลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักตัวคลานออกมา แต่พอขุดลงไปกลับพบรากไม้ที่มีขนาดใหญ่และเป็นรากฝอยเป็นจำนวนมาก จึงเร่งดำเนินการขุดรังเต่ามะเฟืองเพื่อช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักออกจากไข่ขึ้นมาจากหลุม เนื่องจากเกรงว่าหากปล่อยไปนานมากกว่านี้ลูกเต่ามะเฟืองจะตายได้
จากนั้นได้ช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองในหลุมที่ยังแข็งแรงและนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจำนวน 64 ตัว รวมถึงช่วยลูกเต่ามะเฟืองที่อ่อนแอรอการพักฟื้นในตู้ ICU Box เพื่อกระตุ้นการฟัก จำนวน 4 ตัว อีกทั้งยังพบไข่เต่ามะเฟืองที่ไม่พัฒนาจำนวน 37 ฟอง และลูกเต่ามะเฟืองตายแรกคลอดจำนวน 1 ตัว รวมทั้งหมดแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่จำนวน 106 ฟอง
สำหรับรังไข่เต่ามะเฟืองรังถัดไป กรมทะเลชายฝั่ง ได้วางแผนนำเต่ามะเฟืองที่ได้จากการฟักตามธรรมชาติ นำมาเลี้ยงอนุบาลให้แข็งแรงในระยะเวลา 1 ปี หรือกระดองเต่ามีขนาดมากกว่า 30 เซนติเมตร ก่อนที่จะปล่อยกลับไปสู่ทะเล เพื่อให้ลูกเต่ามะเฟืองนั้นมีโอกาสในการอยู่รอดและเติบโตจนสามารถสืบพันธุ์และวางไข่ได้ตามธรรมชาติต่อไป
สำหรับการฟักไข่ของลูกเต่ามะเฟืองรังดังกล่าว นับเป็นรังแรกของฤดูกาล ที่แม่เต่ามะเฟืองได้ขึ้นมาวางไข่ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา และเป็นข่าวดีที่วันนี้ตรงกับวันเด็กแห่งชาติ สร้างความยินดีแก่บรรดานักอนุรักษ์และพี่น้องประชาชนที่เฝ้ารอคอยการฟักไข่ของลูกเต่ามะเฟือง
อย่างไรก็ตาม ในการเฝ้าติดตามลูกเต่ามะเฟืองรังที่ 1 ได้มอบหมายให้ ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ติดตามการฟักไข่ของลูกเต่ามะเฟือง พร้อมด้วยดร. ก้องเกียรติ วัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง นายประถม รัสมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 และผู้เกี่ยวข้องร่วมสังเกตการณ์
นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ดำเนินการให้ข้อมูล สร้างองค์ความรู้ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยี่ยมชมในพื้นที่ และจัดเวรเฝ้าระวังในช่วงดึกต่อเนื่องเช้ามืดโดยร่วมกับชุมชนเดินเต่า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่แม่เต่ามะเฟืองที่อาจจะขึ้นมาวางไข่อีกครั้ง
นายอรรถพล ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่จะขึ้นวางไข่ เมื่อสภาพแวดล้อมดีและพื้นที่ปลอดภัย เมื่อลูกเต่าฟักออกจากไข่จะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์และสามารถรอดปลอดภัย เมื่อสัตว์ทะเลไว้ใจหมู่บ้านเรา จังหวัดเรา หรือประเทศของเรา พวกเรายิ่งต้องดูแลทรัพยากรทางทะเลของเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม