เช็ค 8 จุด "ชาร์จมือถือ" เสี่ยง โดนแฮก ดูดเงินในบัญชี พร้อมวิธีแก้
เช็ค 8 จุด "ชาร์จมือถือ" เสี่ยง โดนแฮก ข้อมูล - ดูดเงินในบัญชี หลังเหยื่อ เงินหาย แค่ชาร์จ โทรศัพท์มือถือ วางไว้เฉย ๆ
กลโกงของมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต่างปรับรูปแบบใหม่ในการเข้าถึงข้อมูลของเหยื่อ โดยล่าสุด มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรายหนึ่ง ตกเป็นเหยื่อ เพราะเพียงแค่ชาร์จมือถือวางทิ้งไว้ แต่จู่ ๆ เครื่องดับ เมื่อเปิดโทรศัพท์ขึ้นมาอีกครั้ง กลับมีข้อความจากแอปธนาคารแจ้งว่า มีเงินออกไปจำนวนกว่า 1 แสนบาท ทั้งที่ไม่มีการโทรเข้า-โทรออก และ ไม่มีใครส่งลิงก์ให้ยืนยันข้อมูล
ผู้เสียหาย เล่าว่า ปกติเค้ามีโทรศัพท์ 2 เครื่อง คือ เครื่องแอนดรอย ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้เล่นเกมส์อย่างเดียว ส่วนเครื่องหลัก คือ ไอโฟน ซึ่งเป็นเครื่องที่ชาร์จโทรศัพท์ทิ้งไว้ แล้วโดนแฮก จนดูดเงินหาย
ณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ชำนาญการ ให้ข้อมูลว่า จากที่ดูจากคลิป มีส่วนที่โดนแอปรีโมทเข้ามาที่เครื่อง ทำให้หน้าจอค้าง เพื่อให้เหยื่อใช้งานไม่ได้ ในขณะที่หลังบ้านของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กำลังดูดข้อมูลจากเครื่องของเหยื่อ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม เพราะส่วนมากผู้เสียหายจะไม่รู้ตัว แต่มีคำแนะนำ หากพบว่าเครื่องหน่วงผิดปกติ อย่าเพิ่งใช้แอปธนาคาร เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน
2 กลโกงมิจฉาชีพ แฮกข้อมูล
ขณะที่เพจ Drama-Addict เตือน 2 จุดเสี่ยง ถูกแฮกข้อมูลในขณะนี้ คือ สายชาร์จมือถือ ไอโฟน ที่ทีมแฮคเกอร์ดัดแปลงข้างใน ให้สามารถดูดข้อมูลจากเครื่องเหยื่อได้ สมมุตว่า มีคนใช้สายนี้เสียบชาร์จ ก็จะสามารถดูดข้อมูลในเครื่องนั้นได้ โดยตัวสายมันจะมีอุปกรณ์ในการดักจับข้อมูล
ถ้าเหยื่อพิมพ์ข้อมูล รหัสผ่าน อะไรพวกนี้ มันก็จะถูกส่งข้อมูลผ่านระบบไร้สาย ไปเข้าคอมพิวเตอร์ของมิจฉาชีพได้ ซึ่งปัจจุบันมีรุ่นใหม่ ๆ ออกมาขายหลายชนิด มีแบบ usb-c ด้วย และวิธีการก็แนบเนียนขึ้น ดังนั้น ฝากพ่อแม่พี่น้อง ตอนนี้มิจฉาชีพมาทุกรูปแบบ และสายชาร์จของมิจฉาชีพ ก็มีขายทั่วไปในท้องตลาด หน้าตาภายนอกแยกจากสายชาร์จไม่ออก ดังนั้น เวลาจะชาร์จมือถือ ใช้สายใครสายมัน อย่ายืมสายคนแปลกหน้ามาใช้
อีกวิธีที่ คือ wifi ปลอม วิธีนี้ มิจฉาชีพจะไปตั้งจุด hotspot wifi ให้ชื่อคล้าย ๆ กับพวก wifi สาธารณะที่ให้ใช้ฟรี และต่อเน็ทได้ แต่ถ้าเราหลงเชื่อไปใช้งาน wifi ปลอมพวกนี้ แล้วกรอกรหัสอะไรไป ข้อมูลก็จะถูกดักไว้โดยมิจฉาชีพ ถูกขโมยข้อมูลแบบไม่รู้ตัวกันเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าจะใช้งาน wifi สาธารณะ เช็คกันดี ๆ ว่า เป็นของจริงหรือของปลอม พลาดไปก็หมดตัวได้เลย
8 สถานที่ควรระวังการชาร์จโทรศัพท์มือถือ
1. จุดชาร์จที่สนามบิน หรือบนเครื่องบิน
- ไม่ควรนำแค่สาย USB มาเสียบที่พอร์ต USB ชาร์จมือถือ เพราะโดนล้วงข้อมูลได้ง่าย เพื่อความปลอดภัยควรนำ Adapter ของมือถือมาด้วย และเสียบผ่าน Adapter มือถือเข้ากับสาย USB มือถือก่อนชาร์จ เพื่อให้มั่นใจว่าใช้สำหรับชาร์จเท่านั้น ไม่โหลดข้อมูลมือถือ
2. รถไฟ
- มีพอร์ตแบบ USB ให้บริการชาร์จ แต่เสียบแล้วมีโอกาสข้อมูลรั่วไหลเหมือนกัน และไม่มีปลั๊กทั่วไปสำหรับใช้ Adapter ให้เสียบด้วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย เตรียมแบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank ส่วนตัวในการชาร์จไฟด้วย
3. โรงแรม
- มีพอร์ต USB ในการชาร์จไฟ และมีรูปลั๊กไฟให้บริการ แต่แนะนำเสียบกับรูปลั๊กไฟปลอดภัยกว่า
4. รถเช่า
- หลายท่านท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด และใช้บริการรถเช่า ก็ไม่ควรนำมือถือมาชาร์จกับรถเช่า เพราะมีโอกาสถูกขโมยข้อมูลได้เช่นกัน โดยเฉพาะนำมือถือมาเสียบกับ USB เพื่อฟังเพลงจากรายชื่อเพลงในมือถือ เสี่ยงถูกขโมยข้อมูลได้ หรือจะชาร์จด้วย adapter ชาร์จไฟมือถือของรถยนต์ จะปลอดภัยกว่า
5. จุดชาร์จตามสถานที่ท่องเที่ยว
- นอกจากอันตรายต่อข้อมูลในมือถือแล้ว อาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณด้วย หากมีมิจฉาชีพมาเข้าใกล้เพื่อขโมยมือถือ ซึ่งรู้ได้หากคุณชาร์จมือถือ ณ จุดบริการชาร์จไฟฟรี
6. จุดชาร์จไฟตามห้ามสรรพสินค้า
- หากคุณชาร์จด้วยสายชาร์จ USB เสียบกับพอร์ต USB ก็มีโอกาสที่จะถูกขโมยรายชื่อผู้ติดต่อของคุณ, อีเมล ข้อความ,เสียงรูปภาพและวิดีโอ ที่อยู่ในมือถือได้ โดยเป้าหมายของแฮกเกอร์คือ ข้อมูลการเงิน หรือรหัสของแอปธนาคารออนไลน์
7. ห้องสมุด
- อาจดูเหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ควรหลีกเลี่ยงการเสียบอุปกรณ์มือถือ เข้ากับพอร์ต USB เพราะหากเสียบพอร์ต USB มีความเสี่ยงที่จะเกิดการถูกถ่ายโอนข้อมูลได้เช่นกัน
8. ร้านกาแฟ
- เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่อาจจะเสี่ยงต่อการถูกขโมยข้อมูลเช่นกัน ควรระวังการชาร์จผ่านพอร์ต USB เพื่อความปลอดภัยก็ควรจะนำ Adapter ติดตัวไปด้วย สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือจะเป็นการดีที่สุด
ทั้งนี้ มีคำแนะนำว่า หากไม่มี Adapter ชาร์จไฟ ในการชาร์จสมาร์ทโฟน และจำเป็นต้องเสียบสาย USB เพื่อชาร์จไฟในสถานที่เสี่ยง เพื่อความปลอดภัย ให้ปิดเครื่องมือถือให้สนิท ก่อนเสียบสาย USB จะเป็นการชาร์จผ่านกระแสไฟฟ้า โดยไม่มีการโหลดข้อมูลในมือถือ
อ้างอิง rd.com