ข่าว

รู้ยัง คนเจเนอเรชันวาย "Gen Y" 49%  "เลี้ยงสัตว์" เพื่อเป็นลูก

รู้ยัง คนเจเนอเรชันวาย "Gen Y" 49% "เลี้ยงสัตว์" เพื่อเป็นลูก

19 ม.ค. 2566

ผลสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล จากกลุ่มตัวอย่าง 1,146 คน ส่วนมากเป็น คนเจเนอเรชันวาย “Gen Y” 49% นิยม “เลี้ยงสัตว์” เพื่อเป็นลูก มี 39.3% จ่ายค่าดูแลสัตว์ต่อเดือน 1-2 พันบาท เฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาท/ตัว/ปี สวนทางกับอัตราการเกิดของเด็กในไทยที่ลดลง

เด็กไทยเกิดน้อยลง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มทวีคูณ แม้รัฐบาลเข็นมาตรการสารพัดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนหนุ่มสาวมีบุตร รวมทั้งแคมเปญ “มีลูกเพื่อชาติ” พบว่าตั้งแต่ปี2560 จำนวนเด็กเกิดใหม่ได้ไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลสำรวจพบว่าพลเมืองกลุ่ม “Gen Y” นิยม "เลี้ยงสัตว์" เพื่อเป็นลูก

พัชรพันธุ์ เทียนศิริ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หัวหน้าทีมวิจัย ระบุ ซีเอ็มเอ็มยู ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยการตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,046 คน และสำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 100 คน เป็นเพศหญิง 66.8% เพศชาย 22.3% และเพศทางเลือก 10.9% 

 

กลุ่มตัวอย่างส่วนมากเป็นกลุ่มคนเจเนอเรชันวาย “Gen Y”  อายุระหว่าง 24-41 ปี สูงถึง 77.3% โดยกลุ่มตัวอย่างมักจะเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent) 49% เลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige) 34% และเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา (Pet Healing) 18% สำหรับประเภทสัตว์เลี้ยงที่มีมากที่สุด ได้แก่ สุนัข 40.4% แมว 37.1% และสัตว์เอ็กโซติก 22.6%

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า 39.3% ของกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ 1,001-2,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลเสมือนลูกทั้งสุนัขและแมวเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาท/ตัว/ปี และบริการยอดฮิตที่เหล่าทาสเลือกใช้งานมากที่สุด คือ อาบน้ำตัดขนถึง 61% และส่วนใหญ่เลือกบริการต่างๆ จากทำเลที่สะดวกเหมาะต่อการเดินทาง

 

ขณะที่กลุ่มคนเจเนอเรชันวาย “Gen Y” วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง เรียนสูงขึ้น มีค่านิยมอยู่เป็นโสด มีความหลากหลายทางเพศ ความต้องการมีบุตรและจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป มองเป็นภาระ อีกทั้ง มาตรการที่จูงใจให้คนต้องการมีบุตรมีน้อยและมาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถจูงใจให้คนอยากมีบุตรได้

 

ที่น่าตกใจ อัตรา “เด็กเกิดใหม่” ในช่วงที่ผ่านมาก่อนปี 2556 อยู่ที่ 780,000 คน ในปี 2563 พบว่าอยู่ที่ 569,338คน และในปี 2564 เด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 544,570 คน และในปี 2565 อัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 5 แสนคน และคาดว่าปี 2566 จะมีอัตราเด็กเกิดใหม่ 5 แสนกว่าคน

 

ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่าอัตราการเกิดต่ำกว่า 6 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่วิกฤตในสังคม อีกทั้งอัตราการเกิดใหม่ต่ำมา 2 ปีแล้ว


สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการคาดว่าปี 2568 ไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุ 60 ปี มากกว่า 14.5 ล้านคน หรือ 20.7% ของประชากรทั้งหมด