รู้หรือไม่เครื่อง "AED" กระตุกไฟฟ้าหัวใจ ช่วยให้รอดตายได้มากถึง 10 เท่า
รู้หรือไม่เครื่อง "AED"กระตุกไฟฟ้าหัวใจ ช่วยให้รอดตายได้มากถึง 10 เท่า พื้นที่สาธารณะควรติดตั้งเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน
เพราะทุกวินาทีในการช่วยเหลือชีวิตคนมีค่าเสมอ จากเหตุการณ์ที่โจรตระเวนขโมยเครื่อง "AED" หรือ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ที่มีไว้สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนที่จะส่งต่อผู้ป่วยหมดสติ หยุดหายใจ หรือหายใจเต้นผิดจังหวะ ไปรักษาตามขั้นตอน แต่เครื่องดังกล่าวกลับถูกโขมยไปอย่างน่าตาเฉยด้วยคนที่ไร้สามัญสำนึก โดยที่ผ่านมาพบว่าเครื่อง "AED" ถูกฉกไปจำนวนมากนั้น ส่งผลให้โอกาาการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่อาจจะเกิดเหตุฉุกเฉินได้ลดลงไปแล้วกว่า 4-5 นาที
ผศ.ดร. สิทธา พงษ์พิบูลย์ อาจารย์ประจำ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประโยชน์ของเครื่อง "AED" หรือ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ว่า เครื่อง "AED"เป็นเครื่องมือสำหรับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยหมดสติ หรือ ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยทางการแพทย์ เครื่อง AED จะมีกระแสไฟฟ้าซึ่งกระแฟไฟฟ้าจะทำหน้ากระตุ้นเซลภายในกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งทำการวิเคราะห์สถานะของผู้ป่วย ณ ขณะนั้น ดังนั้น เครื่อง "AED" จึงถือว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้นได้อย่างดี และหากในที่เกิดเหตุผู้ป่วยได้รับการทำ CPR พร้อมกับใช้เครื่อง AED จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 10 เท่า
ฉะนั้นในแง่ของการช่วยเหลือชีวิต เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ จึงถือว่ามีความสำคัญมาก ในพื้นที่สาธารณะจำเป็นจะต้องมีการติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวเอาไว้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเมื่อมีเครื่องมือช่วยชีวิตแล้วจะต้องใช้ให้เป็น และถูกวิธี เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างถูกต้อง
ผศ.ดร. สิทธา กล่าวต่อว่า สำหรับอายุการใช้งานของเครื่อง "AED" นั้นสามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้ไม่จำกัดครั้ง และสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา หากเจอกรณีป่วยฉุกเฉิน ยิ่งมีเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอยู่ใกล้ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น และยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และการเป็นอัมพาต ได้มากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคนทั่วไปจำเป็นจะต้องเรียนรู้การช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานไว้ก่อน เพราะในภาวะฉุกเฉินที่ในพื้นที่นั้นไม่มีเครื่อง "AED" จะได้ช่วยเหลือชีวิตด้วยวิธีการอื่น ๆ ระกว่างรอรถพยาบาลซึ่งก็ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บรุนแรง เสียชีวิตได้เช่นกัน
ข้อมูลจากโรงพยาบาลเวชธานี ระบุ วิธีใช้เครื่อง AED และการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้
- เมื่อพบคนหมดสติควรตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเข้าช่วยเหลือเสมอ
- ปลุกเรียกด้วยเสียงดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง พร้อมจัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง
- เรียกขอความช่วยเหลือ หรือโทรแจ้ง 1669 พร้อมนำเครื่อง AED มาเตรียมไว้ (กรณีที่มีเครื่อง)
- ประเมินผู้หมดสติ หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้กดหน้าอกทันที
- เริ่มทำการช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR (Cardiopulmonary Resuscitation)
- เมื่อเครื่อง AED มาถึง ให้เปิดเครื่องและถอดเสื้อผ้าผู้หมดสติออก
- ติดแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย หลังจากนั้นไม่สัมผัสตัวผู้ป่วย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED
- กดหน้าอกต่อทันที หลังทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง AED
- ส่งต่อผู้ป่วยเมื่อทีมกู้ชีพมาถึง
ข้อมูลจากโรงพยาบาลเวชธานี