ข่าว

เปิดใจ "หมอจุ๊ก" จุกอีกครั้ง กว่า 20 ปี ครั้งนี้ ร้ายแรงที่สุด

เปิดใจ "หมอจุ๊ก" จุกอีกครั้ง กว่า 20 ปี ครั้งนี้ ร้ายแรงที่สุด

27 ม.ค. 2566

เปิดใจ "หมอจุ๊ก" หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ที่ต้องจุกอีกครั้ง 20 กว่าปี ครั้งนี้ ร้ายแรงที่สุด เมื่อเจอคำสั่ง ฟ้าผ่ากลางใจคน จะนะ

"20 กว่าปี ที่อยู่จะนะมา นับว่าครั้งนี้ เป็นคำสั่งที่ร้ายแรงที่สุด" เป็นประโยคที่ "หมอจุ๊ก" หรือ หมอสุภัทร นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กล่าวกับคมชัดลึกออนไลน์ หลังมีข่าวกระเด็นออกมาว่า มีคำสั่งย้ายพ้นจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ไปนั่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และคำสั่งนั้น มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2566 แต่ตัวเค้ายังไม่เห็นหนังสือคำสั่งตัวจริง


กระแสข่าวคำสั่งย้าย มีมาตั้งแต่ต้นปี 2566 ซึ่งได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับกลุ่มมวลชนคนจะนะ ที่รักในตัวหมอจุ๊ก พากันรวมตัวส่งกำลังใจให้กับเขาทันทีสะท้อนให้เห็นว่า ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เค้าคือคนอันเป็นที่รักของชาวจะนะ

เปิดใจคำสั่งย้ายที่ไม่เป็นธรรม

 

หมอสุภัทร บอกถึงสิ่งที่บ่งบอกว่า คำสั่งย้ายครั้งนี้ เป็นการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ที่นอกจากเรื่องของการแสดงความเห็นเรื่องกัญชา คัดค้านการจัดสรรวัคซีน และความเป็นหมอเอ็นจีโอ ของเค้าแล้ว อีกประการหนึ่งที่บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากล ประการแรกเลยคือ ตำแหน่ง ผอ.รพ.ชุมชนทั้งประเทศ เป็นตำแหน่งวิชาการเชี่ยวชาญ ไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร นั่นหมายความว่า ผอ.รพ.ชุมชน จะขึ้นเป็น นพ.สาธารณสุขจังหวัดโดยตัวเองไม่ได้ เป็นรองก็ไม่ได้ เพราะตำแหน่งนั้นเป็นตำแหน่งบริหาร ถ้าอยากจะขึ้น ก็ต้องไปสอบเข้าตะกร้าบริหาร แล้วก็ย้ายตำแหน่งตัวเองก่อน 

ขอบคุณภาพจากเพจ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ซึ่งหลักเกณฑ์นี้วางไว้ยาวนาน และเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีมาก ทำให้ตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.ชุมชน ปลอดจากการเมือง และสามารถอยู่ในพื้นที่ได้ มีสัมพันธภาพที่ยาวนานกับพื้นที่ เพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการทำงานด้านการสาธารณสุข แต่ปรากฎว่า รอบนี้เมื่อมีคำสั่งย้าย กลับมีการออกหลักเกณฑ์ใหม่ โดยให้อำนาจผู้ตรวจ สั่งย้ายผู้อำนวยการเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชุมชน ลงวันที่ 23 มกราคม 2566 ก่อนมีการประชุมคณะกรรมการย่อยพิจารณาย้าย และลงนามในคำสั่งย้ายเขาไปเป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสะบ้าย้อยทันที ในวันที่ 25 มกราคม คำสั่งย้ายหลุดออกมาทางสื่อ วันที่ 26 มกราคม 2566 โดยที่เขายังไม่ได้เห็น ถือเป็นพิรุธ ในการย้าย ผอ.โรงพยาบาลบ้านนอกสักคน 

หมอสุภัทร บอกว่า ตำแหน่ง ผอ.รพ.ชุมชน ไม่มีวาระในการดำรงตำแหน่ง สามารถอยู่ยาวแค่ไหนก็ได้ แต่ถ้าทำความผิด ก็มีสิทธิถูกคำสั่งย้าย หรือ ประสงค์ย้ายเอง หรือธรรมเนียมที่ทำมาตลอดก็คือ ถ้าจะมีคำสั่งย้าย ผู้ใหญ่จะเรียกเข้าไปคุยก่อน ว่าอยากให้ไปช่วยทำงาน เช่น อยากให้ไปช่วยที่สะบ้าย้อย เพราะที่นั่นมีปัญหาเยอะ อยากให้ไปแก้ปัญหา เป็นวิถีทางที่ทำกันมาโดยตลอด แต่ว่ารอบนี้ เป็นการลงนามคำสั่งโดยที่ไม่มีการคุย ทำให้ระบบการทำงานในพื้นที่รวนได้ ในอนาคต ผอ.รพ.ชุมชน ก็มีโอกาสถูกแทรกแซงทางการเมืองเมื่อไรก็ได้


"โดนแบบนี้มาหลายรอบ ไม่ถึงกับท้อ แต่มันก็ทำให้เราเหนื่อยบ้าง แต่ก็คิดว่าเราต้องต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีข้าราชการ ถ้าหากการเมือง หรือผู้หลักผู้ใหญ่ย้ายตามอำเภอใจ ถือว่าเป็นสิ่งที่แย่มากในอนาคต ทุกคนก็ต้องไปซูฮก โดยที่ไม่สอดคล้องกับเหตุผลหรือสิ่งที่ควรจะเป็น การทุจริตคอร์รัปชั่นในอนาคตก็อาจจะเพิ่มขึ้น ถ้าสามารถแทรกแซงกันได้ลึกขนาดนี้" หมอสุภัทร บอกกับเรา


หมอสุภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้รอหนังสือตัวจริง ที่ยังไม่เห็น เมื่อได้รับแล้ว ก็จะเซ็นรับทราบคำสั่ง ก่อนกำหนดวันเดินทางไปสะบ้าย้อย หลังจากนั้น จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครอง ที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม ส่วนจะไปพัฒนาอะไรที่สะบ้าย้อย หลังจากเข้ารับตำแหน่ง ตอนนี้ยังไม่คิด แต่ในพื้นที่สะบ้าย้อย น่าจะมีเรื่องให้ทำมากมาย

ขอบคุณภาพจาก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

เส้นทางหมอเอ็นจีโอ


1. หมอจุ๊ก หรือ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ปัจจุบันอายุ 53 ปี เกิดที่หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นลูกพ่อค้าขายรองเท้าธรรมดา แต่โชคดีที่มีครอบครัวที่อบอุ่น จึงเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และที่เด็ดคือ หมอจุ๊กเรียนเก่งมาก เพราะพอเรียนจบ ม.ปลาย จากหาดใหญ่วิทยาลัย ก็เอนทรานซ์ติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2531 ชีวิต 6 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัย หมอจุ๊กยังทำกิจกรรมมากมาย โดยเข้าชมรมค่ายอาสาสมัครมีโอกาสไปออกค่าย ไปพบชีวิตชนบท

 

2. หมอจุ๊กเคยเล่าในนิตยสาร WAY ว่า ด้วยความที่ทำกิจกรรมมาก สุดท้ายก็เข้าสู่งานการเมืองในมหาวิทยาลัย โดยรวมตัวกับเพื่อนต่างคณะ ตั้งพรรค "จุฬาฟ้าใหม่" ช่วงเป็นนิสิตปี 3 กำลังขึ้นปี 4 เป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) รุ่นปี 2534

 

3. ประเดิมงานแรกทันที เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้ายึดอำนาจการปกครอง หมอจุ๊ก ก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรียกร้องให้ รสช.ปล่อยตัวเพื่อนนักศึกษา ม.รามคำแหง 15 คน ที่ถูกจับกุม เพราะต่อต้านรัฐประหาร จากนั้นก็ทำกิจกรรมนอกรั้วแบบจัดเต็ม ทำค่ายอาสาขนาดใหญ่อยู่พักหนึ่ง ค่ายล่ม

 

4. สุดท้ายก็กลับไปตั้งใจเรียนปีสุดท้ายอย่างเต็มที่ จนจบแพทย์ อนุมัติบัตรเวชศาสตร์ครอบครัวจากแพทยสภา ทำงานใช้ทุนตอนอายุ 24 ปี โดยไปเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล 

 

5. คำว่าหมอเอ็นจีโอ น่าจะมาความเป็นหมอที่อยู่นอกกรอบ เพราะอยู่ที่นั่นประมาณ 2 ปี เส้นทางของการทำงานมวลชนก็หนีไม่พ้น เพราะมีรุ่นพี่เอ็นจีโอมาชวนให้ช่วยชาวบ้านปกป้องผืนป่า จากการที่ทางการจะตัดถนนผ่านป่า ซึ่งเป็นต้นน้ำเทพา เพื่อจะเชื่อมถนนกับประเทศมาเลเซีย ตามโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย

 

5. ผ่านไป 4 ปี ขณะที่คนสะบ้าย้อย และคนในพื้นที่ภาคใต้ ได้รู้จักเขาในมุมของนักทำงานเคลื่อนไหวเพื่อมวลชน ก่อนได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ยาวนานจนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่ทิ้งลาย เพราะยังเข้าต่อต้านโครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย โดยทำงานถนัดเช่นเคย ที่สุดงานนี้ หมอจุ๊กโดนเรียกตัวไปชี้แจงที่กระทรวงสาธารณสุข ถูกรองปลัดกระทรวง
สาธารณุสขขณะนั้น เอ่ยปากถามเลยว่า "จะเป็นหมอหรือเอ็นจีโอ เลือกเอา!"

ขอบคุณภาพจาก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

6. ถัดจากโครงการท่อก๊าซ มาสู่โรงไฟฟ้าที่จะนะ เรียกร้องให้หยุดสัมปทานปิโตรเลียม และโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โด่งดัง จนถูกทหารเชิญไปคุย คือ ตอนเป็น 1 ใน 11 แกนนำกลุ่ม "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" ที่เดินเท้า 1,400 กิโลเมตร จากหาดใหญ่ถึงกรุงเทพฯ ช่วงปี 2557 เป็นช่วงที่ คสช.มาแล้ว

   
7. ช่วงปี 2559 ขณะที่แพทย์ชนบทคนนี้ ยังคงทำหน้าที่แกนนำเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-ปะนาเระ แต่ก็ออกมาวิจารณ์การที่ทหารสั่งปลดบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. 7 ราย จนมีข่าวโดนสั่งย้ายเกิดขึ้น แต่ไม่รู้ว่าด้วยพลังมวลชนคนรักหมอจุ๊กหรืออย่างไร ข่าวการสั่งย้ายก็เงียบไป

ขอบคุณภาพจาก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

8. นับตั้งแต่โควิดระบาด หมอสุภัทร เป็นบุคคลหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวขับเคลื่อน ทั้งการตรวจสอบการจัดซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) 
และการพาแพทย์ชนบทอาสา มาช่วยปฏิบัติการกู้ภัยโควิดกรุงเทพมหานคร ตรวจเชิงรุกให้ประชาชนใน กทม. และปริมณฑล รวมถึงการลุยงานโควิดหลากหลายรูปแบบในพื้นที่อำเภอจะนะ

 

9. ต้นปี 2566 กับคำสั่งฟ้าผ่า ย้ายจากโรงพยาบาลจะนะ กลับไปอยู่ในที่ที่เคยมา คือ โรงพยาบาลสะบ้าย้อย เขาจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป ภายในมวลชนที่คอยสนับสนุน และให้กำลังใจกับคำสั่งย้าย ที่เขาบอกว่า ไม่เป็นธรรม