'สาธิต' ดันแผนวิจัยพัฒนายา วางเป้าสร้างมูลค่าส่งออกยา กว่า 16,000 ล้านบาท
'สาธิต' ดันแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 เพิ่มศักยภาพการวิจัยพัฒนายาที่มีความสำคัญ มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 16,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็น
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาโดยร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยา
- พัฒนากลไกการเข้าถึงยาถ้วนหน้า ราคายาที่สมเหตุผลทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
- พัฒนากลไกสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
- การจัดการสารสนเทศเพื่อจัดการระบบยาแบบบูรณาการ มุ่งหวังให้เกิดระบบยาที่มั่นคง บนพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนายา ประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพอย่างทั่วถึงและปลอดภัย
ทั้งนี้ การนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านยาฯ ไปสู่การปฏิบัติ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมยาในประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการผลิตยานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มมูลค่าการส่งออกกว่า 16,000 ล้านบาท อีกทั้งยังผลักดันให้มียาสามัญทดแทนยาต้นแบบ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน และปรับปรุงบัญชี ยาหลักแห่งชาติ
เช่น ยาสำหรับรักษาโรคโควิด-19 กรณีผู้ป่วยที่มีอาการระดับรุนแรง ยาสำหรับโรคหายากที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและสมุนไพรไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายจากการกำหนดราคากลางของยาที่มีราคาแพง ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณกว่า 148 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งการขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผลสอดคล้องตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ กล่าวย้ำว่า สธ. จะเร่งผลักดัน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566 - 2570 นี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ พร้อมมอบหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ระบบยามั่นคงด้วยการวิจัยพัฒนา ประเทศมีการจัดหายาจำเป็นไว้ใช้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน