3 กุมภาฯ "วันทหารผ่านศึก" ร่วมสดุดี วีรชนผู้กล้า ที่เสียสละเพื่อแผ่นดิน
3 กุมภาพันธ์ 2566 "วันทหารผ่านศึก" วันแห่งการร่วมสดุดีวีรกรรมของทหารผ่านศึก วีรชนผู้กล้า ที่เสียสละเพื่อแผ่นดิน
"วันทหารผ่านศึก" วันสำคัญอีกวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี คือวันที่ประชาชนทั่วไป อีกทั้งให้ส่วนราชการ ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการส่งเสริมเชิดชูเกียรติและเอื้ออาทรต่อทหารผ่านศึก เพื่อสดุดีวีรกรรมของทหารผ่านศึก วีรชนผู้กล้า ที่เสียสละเพื่อแผ่นดิน
ความสำคัญของ "วันทหารผ่านศึก" ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" เพราะจะต้องมีการวางพวงมาลา บุคคลสำคัญของประเทศเพื่อให้เหล่าชาวไทยได้ร่วมคารวะดวงวิญญาณของทหารหาญและเหล่า วีรชนคนกล้า ที่มีชื่อจารึกอยู่บนอนุสาวรีย์ และเพื่อเป็นการเทิดเกียรติแก่คนเหล่านั้นที่ได้เสียสละชีพเพื่อชาติ และปกป้องอธิปไตยของชาติไทย
"วันทหารผ่านศึก" ในประเทศไทย
เพื่อระลึกถึงเกียรติภูมิของนักรบกล้าหาญ ตลอดจนเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและวีรกรรมของเหล่าทหารหาญที่ทำให้เราอยู่กันอย่างสงบสุขบนผืนแผ่นดินไทย สำหรับประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามต่างๆ มาแล้ว โดยมีอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติ ปรากฏเป็นอนุสรณ์อยู่ ซึ่งวีรกรรมของนักรบไทยในการรบได้ขจรขจายไปทั่ว ปรากฏต่อสายตาชาวโลก
นับเป็นโอกาสอันดีที่ชาวไทยจะได้แสดงความระลึกถึง และช่วยเหลือทหารผ่านศึกและครอบครัว ด้วยการซื้อ ดอกป๊อปปี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึก ผู้กล้าหาญ และเสียสละ เพราะดอกป๊อปปี้เป็นดอกไม้ที่ระลึกสำหรับทหารผ่านศึกไทยเช่นเดียวกับในต่างประเทศ และมีการจำหน่ายในวันที่ระลึก ทหารผ่านศึก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 เป็นต้นมา เพราะเหล่าทหารกล้าที่ทำให้พวกเราชาวไทยมีอธิปไตยมีชาติ บ้านเมือง ให้ได้อยู่อาศัย ตราบชั่วลูกชั่วหลานจวบจนปัจจุบัน
ทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ คนไทยทุกคนจะได้มีโอกาสแสดงความระลึกถึงคุณความดี และความกล้าหาญของเหล่าบรรดาวีรชนไทย ที่ยอมสละเลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อปกป้อง เอกราชอธิปไตยของแผ่นดินไทยไว้ให้พวกเรา ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขมาจน
ประวัติ "วันทหารผ่านศึก"
วันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ เป็นวันคล้ายวัน สถาปนาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและ เป็นวันทหารผ่านศึก ซึ่งคณะรัฐบาลได้กำหนดให้เป็น "วันทหารผ่านศึก" ขึ้น เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญ ของ ทหารผ่านศึก รวมถึงให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่ทหารผ่านศึกเนื่องจากทหารผ่านศึกบางคนได้รับบาดเจ็บจนต้องทุพพลภาพ เสียแขน ขา หรืออวัยวะที่สำคัญบางอย่างทำให้ไม่สามารถจะประกอบอาชีพได้เหมือนกับคนปกติ และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และสังคม เนื่องจากขาดความสามารถในการประกอบอาชีพ ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2538 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดงานวันทหารผ่านศึก เพื่อสดุดีวีรกรรมทหารผ่านศึก ทหารกล้าผู้ที่เสียสละเพื่อรักษาประเทศชาติ
มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2488 โดยเรียกชื่อว่า "คณะกรรมการพิจารณา หาทางช่วยเหลือทหารกองทุน" ในสมัย พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นผู้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยตระหนักถึงคุณความดีของ ทหารหาญเหล่านั้น รัฐบาลจึงหาหนทางที่จะให้ความช่วยเหลือมาตลอด เหล่าทหารกล้าที่เป็นกองกำลังในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ พวกเขาพร้อมเผชิญหน้ากับ ศัตรูอย่างไม่หวั่นเกรงต่ออันตรายใดๆ ทหารทุกคนต่างสละได้ทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ร่างกายและลมหายใจ
ความช่วยเหลือเหล่าทหารผ่านศึกและครอบครัว ได้มีการสงเคราะห์จากองค์การสำหรับประเภทต่างๆครอบครัวทหารผ่านศึกและนอกประจำการ ด้วยการสงเคราะห์ด้านสวัสดิการทั่วไป ด้านอาชีพ มีการจัดอบรมอาชีพสำหรับทหารที่ทุพลภาพ ด้าน เกษตรกรรม ด้านการรักษาพยาบาล ด้านส่งเสริมสิทธิและเกียรติ
วางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
วันทหารผ่านศึกมีเหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หน่วยงานของรัฐบาล และเอกชน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ต่างพร้อมใจกัน เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ที่เสียสละชีวิตเพื่อความสงบสุขของ ประเทศชาติ ซึ่งในวันทหารผ่านศึกของทุกปี องค์การสงเคราะห์ ทหารผ่านศึก จะจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้า มีการประกอบพิธีวางพวงมาลา บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และพิธีเทิดไท้องค์ราชันย์ การเดินแถวของทหารผ่านศึก พิธีสวนสนามสดุดีทหารผ่านศึก ณ ลานอเนกประสงค์ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ การเชิญหมู่ธงไตรรงค์ และหมู่ธง 6 กรณีสงคราม เพื่อเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึกดีเด่น
จำหน่าย ดอกป๊อปปี้
จำหน่ายดอกป๊อปปี้ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือ ทหารผ่านศึก การนำเอาผลผลิตของทหารมาจำหน่ายกับประชาชน ถือเป็นการบริจาคช่วยเหลือทหารผ่านศึก ซึ่งการทำ ดอกป๊อปปี้ ออกไปขายสู่ประชาชน อาจมีการตั้งกองทุนขึ้นทุกๆ ปี
แนวทางการสนับสนุนกิจกรรม "วันทหารผ่านศึก"
- สงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ
- การสงเคราะห์ทางด้านอาชีพ
- การสงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม
- การสงเคราะห์ด้านกองทุน
- การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลให้แก่สมาชิก โดยไม่คิดมูลค่า
- ให้มีการส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก โดยการขอสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ ให้แก่ทหารผ่านศึก เช่น การขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น
ที่มา : lib.ru.ac.th