ข่าว

เครียด หนี้ท่วม หมดพลัง ปม “คนวัยทำงาน” เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

เครียด หนี้ท่วม หมดพลัง ปม “คนวัยทำงาน” เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

03 ก.พ. 2566

เปิดข้อมูลกรมสุขภาพจิต ปี65 พบปม เครียด หนี้ท่วม หมดพลัง ทำให้แรงงาน “คนวัยทำงาน” เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง นพ.ยงยุทธ คาดกฎกระทรวงแรงงานใหม่ กำหนดให้ตรวจสุขภาพจิตประจำปี มีผลบังคับใช้ในปี66นี้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่ติดตามโครงการ “สร้างเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ” ณ บริษัทเอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา และ โรงแรมเคนซิงตัน อิงลิซ การ์เด้น รีสอร์ท เขาใหญ่ 

 

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส.ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจิตประชาชน มุ่ง “สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนเจ็บป่วย” พัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อสถานการณ์สังคม ผลักดันนโยบายเน้นการเข้าถึงบริการพื้นฐาน รวมทั้งสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน

 

สำหรับวัยทำงานเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศ มีแรงงานในสถานประกอบการกว่า 15 ล้านคน เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนองค์กรที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วัยแรงงานได้รับผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและจิตใจ ทั้งจากการงาน หนี้สิน มีความเครียด วิตกกังวล เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดหวัง หมดพลังชีวิต เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ในปี 2565 พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยทำงาน 9.43 ต่อแสนประชากร (3,650 คน) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ส่วนอัตราการพยายามฆ่าตัวตายในวัยทำงานอยู่ที่ 45.24 ต่อแสนประชากร (17,499 คน) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเล็กน้อย

 

นางเดือนเพ็ญ ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สสส. สานพลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์สุขภาพจิต และคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตจังหวัด ดำเนินการโครงการ “สร้างเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ” ให้เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลสามารถให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม (กาย ใจ การเงิน) แก่แรงงาน เพื่อจัดการความเครียด มีสุขภาพจิตดี มีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลังความหวังที่จะฝ่าข้ามวิกฤตได้ และส่งต่อความรู้ให้ครอบครัว ชุมชน อีกทั้งยังเพิ่มผลิตภาพให้สถานประกอบการและประเทศด้วย

 

ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลได้รับการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ จากสถานประกอบกิจการ 23 แห่งใน 8 เขตสุขภาพ รวมพนักงานกว่า 26.000 คน มีการจัดกิจกรรมสร้างสุขวัยทำงานและมีพนักงานเข้าร่วมแล้ว 2,110 คน คาดหวังให้เกิดรูปแบบการดำเนินการในสถานประกอบการนำร่อง ไปขยายผลในสถานประกอบการอื่นต่อไป

เครียด หนี้ท่วม หมดพลัง ปม “คนวัยทำงาน” เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

คนวัยทำงาน

น.ส.กนกอร สุวรรณนิคม บริษัทเอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า บริษัทฯ มีพนักงานกว่า 14,000 คน มีภาวะความเครียดจากหลายปัจจัย อาทิ ยอดการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์โควิด-19 ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเงิน หลังเข้าร่วมโครงการฯ ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเรื่องการดูแลสุขภาพกาย การจัดการอารมณ์และความเครียด และการจัดการหนี้สินส่วนบุคคลไปแล้ว 2 รุ่น รวมพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ 100 คน มีการตรวจวัด BMI, ประเมินสุขภาพใจ และประเมินสุขภาพการเงิน พบพนักงานมีปัญหาน้ำหนักเกินกว่า 50% มีภาวะเครียด 46% โดย 22% เสี่ยงซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย

คนวัยทำงาน

 

และยังพบพนักงานมีปัญหาด้านหนี้สิน การเงินอ่อนแอ 10% โครงการนี้ ดูแลสุขภาพใจพนักงานทุกคนผ่านการประเมินสุขภาพใจ และให้คำปรึกษาในเบื้องต้น ประสานงาน ส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้พนักงานได้เข้าถึงการรักษาด้านสุขภาพจิตอย่างทันท่วงที ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้พลังกาย พลังใจ รวมทั้งมีความรู้ในการจัดการเงินและหนี้สิน และพนักงานยังส่งต่อความรู้ ความเข้าใจไปยังครอบครัวและบุคคลอื่นอีกด้วย

 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิต ครั้งล่าสุด มีมติเรื่องสุขภาพจิตในสถานประกอบการ 2 ประเด็น 1.แก้กฎกระทรวงแรงงาน กำหนดให้จัดการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสวัสดิการ โดยตัดคำว่า “ทางเลือก” ออก เพื่อให้สถานประกอบการทุกแห่งทุกขนาด ต้องดำเนินการตามกฎ เนื่องจากปัจจุบันมีการตรวจสุขภาพประจำปีเฉพาะในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ส่วนขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ค่อยดำเนินการเรื่องนี้มากนัก

 

2.กำหนดให้การตรวจสุขภาพประจำปี ต้องครอบคลุมเรื่องสุขภาพจิตด้วย เพราะที่ผ่านมาตรวจเฉพาะสุขภาพกายเท่านั้น และเพื่อป้องกันปัญหาเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้สถานประกอบการ กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาโปรแกรม MENTAL HEALTH CHECK IN ตรวจเช็คสุขภาพใจ สำหรับสถานประกอบการผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 2 โปรแกรม 1.โปรแกรมมาตรฐาน จัดการ 3 ปัญหาสุขภาพจิตของแรงงาน การเงิน ความเครียด และสัมพันธภาพ 2.โปรแกรมเชิงวิสัยทัศน์ มุ่งพัฒนาให้บุคลากรมีความสุขจากภายใน โดยคาดว่ากฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ภายในปี2566นี้

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต