'สมรสเท่าเทียม' ฝันที่รอเป็นจริงของ 'คู่รัก LGBTQ+'
'สมรสเท่าเทียม' ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั่วโลกพิจารณากันมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันมีประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 31 ประเทศทั่วโลก ณ วันนี้ ประเทศไทย รอฝันที่เป็นจริงของ คู่รัก LGBTQ+
เรียกได้ว่า รักแห่งสยาม ภาพยนตร์ที่มาก่อนกาลถึง 16 ปี ได้จุดประกายความเข้าใจเรื่อง ความหลากหลายทางเพศ ในสังคมไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อค่ำวันที่ 28 ก.ค. 2565 บริเวณลานกิจกรรมสยามสแควร์ ในกิจกรรม กรุงเทพฯ หนังกลางแปลง ได้ตอกย้ำในเรื่องนี้ หลัง สมรสเท่าเทียม เข้าใกล้ความเป็นจริง มันคือการทำให้ คู่รัก LGBTQ+ มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่เติบโตและสร้างชีวิตที่ดีขึ้นร่วมกันในความเป็นครอบครัวเดียวกัน
“บทสรุปของหนังเรื่อง รักแห่งสยาม ที่เราอยากเห็นคือโต้งและมิว สามารถรักกันและใช้ชีวิตคู่กันได้ในประเทศนี้เหมือนคู่รักชาย-หญิง ซึ่งต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกฏหมายและค่านิยมสังคม” พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้จัดการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล กล่าว
เช่นเดียวกับ ครูธัญ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้เสียงสนับสนุนจากสภาวาระแรก 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และ ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
สำหรับก้าวต่อไปของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะผ่านด่านต่าง ๆ ไปได้ในชั้นการแปรญัตติและผ่านการพิจารณาที่เหลืออย่างน้อย 2 ขั้นตอนในชั้นวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร หากร่างกฎหมายว่าด้วยการสมรสเท่าเทียมผ่านครบแล้ว ก็จะต้องออกมาเป็นกฎหมายสมรสอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการต่อสู้กันต่อในชั้นคณะกรรรมาธิการว่าจะได้เท่าเทียมจริงหรือไม่
กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั่วโลกพิจารณากันมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันมีประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 31 ประเทศทั่วโลก
31 ประเทศทั่วโลก สมรสเท่าเทียม
- นอร์เวย์
- สวีเดน
- เยอรมนี
- สเปน
- ออสเตรีย
- สหราชอาณาจักร
- ฝรั่งเศส
- สวิตเซอร์แลนด์
- เบลเยียม
- ฟินแลนด์
- ไอร์แลนด์
- ไอซ์แลนด์
- มอลตา
- เนเธอร์แลนด์
- โปรตุเกส
- ลักเซมเบิร์ก
- เดนมาร์ก
- สหรัฐอเมริกา
- แคนาดา
- คอสตาริกา
- เม็กซิโก
- บราซิล
- อาร์เจนตินา
- โคลอมเบีย
- ชิลี
- เอกวาดอร์
- อุรุกวัย
- ออสเตรเลีย
- นิวซีแลนด์
- แอฟริกาใต้
- ไต้หวัน
สมรสเท่าเทียม ในประเทศไทย
ไทยมีพ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เพิ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2556 แต่สิทธิก็ยังไม่ครอบคลุมและเท่าเทียมกับสิทธิของเพศทั่วไป แต่ ร่างพ.ร.บ. เกี่ยวกับสิทธิการ สมรสเท่าเทียม จะทำให้ คู่รัก LGBTQ+ ในประเทศได้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนเพศอื่น ๆ ที่สามารถอุ้มบุญได้ใช้นามสกุลร่วมกันได้ สามารถได้รับสวัสดิการ รวมไปถึงมีสิทธิที่จะเซ็นอนุญาตรักษาพยาบาลอีกฝ่ายเป็นการลดความแบ่งแยก ให้ทุกคนมีสิทธิเท่า ๆ กัน ถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียที่จะมีสิทธิสมรสเท่าเทียมที่จะให้สิทธิความเท่าเทียมกับทุกเพศ
ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต
สภาผู้แทนราษฎรจะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ยังมีอีกหลายขั้นตอนก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า นอกจากในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 4 ขั้นตอนในการพิจารณาร่างกฎหมายก่อนประกาศบังคับใช้
ขั้นตอนที่ 1 การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
หลังจากที่ กมธ.วิสามัญฯ ทำการแปรญัตติร่างกฎหมายหรือปรับแก้ร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย สภาผู้แทนฯ จะต้องพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายแบบรายมาตรา ว่าเห็นชอบด้วยกับการปรับแก้ของ กมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ หรือ ให้คนไว้ตามร่างเดิม หรือจะปรับเปลี่ยนใหม่ตามที่มีผู้อื่นเสนอแก้ และเมื่อลงมติให้ความเห็นชอบรายมาตราเป็นที่เรียกร้อย จึงมาพิจารณากันต่อในวาระที่สามว่า สภาผู้แทนฯ จะให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้งฉบับหรือไม่
ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา
หากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พิจารณากันต่ออีกสามวาระ
ขั้นตอนที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หาก สว. ให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ให้นายกรัฐมนตรี, สส. หรือ สว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ขั้นตอนที่ 4 ทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายดังกล่าวว่าไม่ขัดขับรัฐธรรมนูญ ก็ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
ขั้นตอนที่ 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย
ไอลอว์ตั้งข้อสังเกตว่า หาก สว.ไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะถูกยับยั้งไว้ก่อน เพื่อรอ สส. มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง หรือ หาก สว.แก้ไขเนื้อหากฎหมาย ก็จะต้องส่งกลับมาให้ สส. พิจารณาอีกครั้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นต่างกันก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อปรับแก้กฎหมายใหม่อีกครั้งเพื่อเสนอให้ทั้งสองสภาลงมติใหม่ ทั้งนี้ หากมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นด้วย ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน แล้ว สส. ถึงหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งได้
บทสรุป สมรสเท่าเทียม
แม้ “สมรสเท่าเทียม” ผ่านความเห็นชอบของสภาวาระแรก ยังมีเสียงสนับสนุนและเห็นต่าง ในวงกว้าง โดย ฝ่ายหนุน เชื่อว่า สังคมจะตื่นตัวมากแค่ไหน แต่ถ้ากฎหมายไม่ปรับตามความก้าวหน้าของสังคม แล้วก็ไม่อาจพูดได้ว่า คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นกฎหมายที่เรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่แค่เป็นเครื่องหมายว่าคู่รักทุกคู่มีสิทธิ์ที่จะรักและสร้างสถาบันครอบครัวร่วมกันได้ แต่จะนำไปสู่สิทธิและสวัสดิการอื่นๆที่จะมีร่วมกันเช่น การรับบุตรบุญธรรม การรับสวัสดิการ การจัดการทรัพย์สิน การเซ็นให้กันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ
ฝ่ายอนุรักษ์ ยังมองต่าง “สมรสเท่าทียม” ไม่ต้องตราเป็นกฏหมาย ไม่ต้องสร้างความเสมอภาคด้วยตัวหนังสือ มันเป็นไปไม่ได้ การเป็นทายาทมันคือชาย-หญิง เท่านั้น การผูกสมัครรักใคร่เป็นรสนิยมทางเพศ จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ มันไม่ใช่ธรรมชาติปกติ เข้าใจคำว่าสิทธิ ต้องเคารพและยอมรับในความแตกต่าง อย่าเรียกร้องสิ่งที่สิทธิส่วนบุคคลที่ผิดจากวิสัยธรรมชาติมนุษย์โลก
สวนทางกับกลุ่มโลกเสรี ออกตัวสุดแรงหนุน สมรสเท่าเทียม มองเป็นเรื่องดี สังคมไทยควรก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง ควรเปิดกว้าง ไม่ต้องมาตีกรอบ เอาจารีตประเพณีมาเป็นบรรทัดฐาน กีดกั้นความต้องการของมนุษย์
...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง/ขอบคุณภาพ : พรรคก้าวไกล