ข่าว

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ออกแถลงการณ์ เสนอถอน พ.ร.บ.สื่อมวลชน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ออกแถลงการณ์ เสนอถอน พ.ร.บ.สื่อมวลชน

06 ก.พ. 2566

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เสนอถอน ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จากที่ประชุมร่วมรัฐสภา จัดทำเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้ออกแถลงการณ์ เสนอถอน "ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน" ออกจากการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ใจความของแถลงการณ์ฉบับนี้ระบุว่า 

ตามที่จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยมีการบรรจุวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณา "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …." ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอบรรจุอยู่ในวาระ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เสนอให้ถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวฯ ออกจากการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพราะร่างฎหมายนี้ดำเนินการร่างและผ่านขั้นตอนยาวนาน ขณะที่บริบทและสังคมสื่อเปลี่ยนแปลงไปมาก ยังมีเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะกับยุคสมัย และมีสื่อใหม่ๆเกิดขึ้นไม่เข้าใจที่มาและหลักคิด แนวทางของกฎหมายฉบับนี้
 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย พบว่ากำลังมีการถกเถียงครั้งใหญ่ในวิชาชีพสื่อมวลชน ของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่มีความกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติฯในหลายมาตรา และขาดการมีส่วนร่วมของคนในวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างทั่วถึง

พร้อมกับกังวลประเด็นการเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจแทรกแซงความอิสระของสื่อมวลชนและทำลายกลไกการกำกับดูแลกันเอง โดยเฉพาะที่มาของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และที่มาของรายได้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะร่างพ.ร.บ.ฯระบุในบทเฉพาะกาลให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคณะกรรมการในวาระเริ่มแรก

รวมทั้งให้รัฐบาลจ่ายเงินให้ทุนประเดิมและจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่าย รวมถึงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมปีละไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท
 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นว่ารัฐสภาควรคำนึงถึงการรับรู้ และความมีส่วนร่วมของสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายใดๆ โดยตรงในฐานะเจ้าภาพที่ย่อมรู้ว่ากฎหมายจะเข้าสภาช่วงเวลาใด สมควรที่จะกำหนดเวลาจัดเวทีสาธารณะล่วงหน้า เพื่ออธิบายให้เข้าใจในวงกว้างและก็ให้หลักประกันในหลักการที่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสังคมที่เกี่ยวข้อง แต่กลับละเลยเหมือนไม่ให้ความสำคัญกับผู้ที่จะถูกบังคับใช้และเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ และมีทีท่าจะเร่งรีบรวบรัดให้กฎหมายออกมามีผลบังคับใช้ใน 3 วาระ

จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีถอนร่างพระราชบัญญัติฯฉบับดังกล่าวออกจากการประชุมร่วมของรัฐสภา และดำเนินการจัดเวทีเพื่อชี้แจงต่อสาธารณะ ตอบคำถามและรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะแวดวงสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายโดยตรง มิฉะนั้นจะเป็นการบังคับปฏิรูปที่ทุกภาคส่วนไม่ได้มีโอกาสที่จะร่วมกัน