'โอไมครอน' BA.2.75 ยังเป็นสายพันธุ์หลักในไทย ยังไม่พบ XBB.1.5 ระบาด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ สายพันธุ์โควิดหลักในไทยยังคงเป็น 'โอไมครอน' BA.2.75 โดยเฉพาะ BN.1.3 ที่พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะยังไม่พบสายพันธุ์ XBB.1.5 ระบาด
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์ โควิด19 ในประเทศไทยว่า ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างเชื้อ จากผู้ติดเชื้อในประเทศและผู้เดินทางเข้าประเทศ อย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 100 ตัวอย่าง
ปัจจุบันยังพบเป็นสายพันธุ์ 'โอไมครอน' เป็นหลัก แบ่งเป็น กลุ่มที่เดินทางเข้าไทย 7 ตัวอย่าง และกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ 87 ตัวอย่าง พบว่า สายพันธุ์หลักในไทย ยังคงเป็นตระกูล ของ โอไมครอน BA.2.75 ร้อยละ 87.2 และกลายพันธุ์ย่อยอีก เป็นสายพันธุ์ลูกหลาน BN.1 โดยเฉพาะ BN.1.3 ที่พบแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยขณะนี้ ส่วน BA.4 / BA.5 พบเล็กน้อยแล้ว
โดยข้อมูลในช่วงมกราคมถึงปัจจุบันถึง 3 กุมภาพันธ์ 2566 ยังพบสายพันธุ์
- BF.7 ร้อยละ 4.6
- BQ .1 ร้อยละ 46.9
- BQ.1.1 ร้อยละ 28.9
- XBB ร้อยละ16
ส่วนสายพันธุ์ โอไมครอน ตระกูล CH.1.1 ที่มีสายพันธุ์ย่อยอีกมากนั้น พบ ในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นลูกหลานของ BA.2.75 ที่มีตำแหน่งการกลายพันธุ์เพิ่ม และมีข้อมูลว่าสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดี เบื้องต้นยังไม่พบความรุนแรงของโรคที่มากไปกว่าเดิม แต่อาจจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป ที่อาจจะป้องกันได้ไม่ครอบคลุม
สำหรับ CH.1.1 พบครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565 และพบในอีก 67 ประเทศทั่วโลกโดยพบมากที่สุดในประเทศอังกฤษ เดนมาร์ก สิงคโปร์
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสายพันธุ์ย่อย CH.1.1 พบว่า หลบภูมิคุ้มกันได้ดี แต่จับเซลล์ได้ไม่นาน เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่จับเซลล์ของไวรัสได้ดีกว่า
เบื้องต้น จากการดูสถานการณ์ระหว่างสายพันธุ์ CH.1.1 กับ BN .1 ในประเทศไทยคาดว่า ยังไม่เข้ามาเบียดเป็นสายพันธุ์หลัก ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่ระบาดมากในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย
ดังนั้น การกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ที่พบการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด ครบตามเกณฑ์ เนื่องจากในปัจจุบัน ประชาชนได้รับทั้งวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากการติดเชื้อ ที่คนไทยมีภูมิคุ้มกันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 - ร้อยละ 80
อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงติดตามสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิดและมีการสุ่มตรวจตัวอย่างและการถอดรหัสพันธุกรรมอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผลการตรวจเชื้อ RT-PCR ในกลุ่มนักท่องเที่ยว 4 ประเทศ คือ ประเทศจีนอินเดีย เนปาล เมียนมา เบื้องต้นอยู่ระหว่างการนำตัวอย่างของเชื้อผลบวกมาถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อดูสายพันธุ์คาดว่าสัปดาห์หน้ารู้ผล
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ โควิด19 จะกลายเป็นโรคประจำฤดูกาลหรือไม่นั้นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อีกสักระยะ เพาะเชื้อ ไวรัสโควิด-19 ยังคงมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง
ส่วนความจำเป็นในการเข้ารับการฉีด วัคซีนโควิด เข็มกระตุ้น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า หากฉีดครบ 4 เข็ม แล้วก็ขอให้ ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงประเมินสุขภาพของตนเองด้วยเบื้องต้นข้อมูลในผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนโควิด ครบ 4 เข็ม ไม่พบอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต