ปลัดกระทรวงมหาดไทย จัดทัพปราบ 'ยาเสพติด' ก่อน 'เลือกตั้ง'
ปลัดกระทรวงมหาดไทย เดินหน้าจัดทัพ ปราบปราม 'ยาเสพติด' ก่อน 'เลือกตั้ง' ยก หนองบัวลำภู ต้นแบบสีขาว ปลอดยาเสพติด
การผลักดันมาตรการปราบปรามยาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ กำลังเร่งเดินหน้า ภายหลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เดินหน้ายกปราบยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการพาปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู เพื่อดูความสำเร็จของ "หนองบัวลำภูต้นแบบสีขาวปลอดยาเสพติด" ในระยะเวลาเร่งด่วน 3 เดือน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปลัด มท.) กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยที่เกี่ยวข้องต่างมี “หัวใจเดียวกัน” คือ “อยากเห็นสิ่งที่ดีเกิดขึ้นในสังคมไทย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อคิดสำคัญที่ว่า “ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน” ซึ่งความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอยู่ที่ “ใจ” และอยู่ที่ “พวกเราทุกคน” ที่ต้องก้าวผ่านข้อจำกัดของทรัพยากรการบริหาร ทั้งงบประมาณ กำลังคน เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ
ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน “แก้ไขปัญหายาเสพติด” ที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยสั่งการให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบแนวทางการทำงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการทำให้ยาเสพติดหมดไปจากสังคมไทย
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และภาคีเครือข่าย Re X-Ray ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งได้ทำสำเร็จตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2565 มีจำนวนผู้ค้า/ผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ 1.2 แสนคน และร่วมกันบูรณาการทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ขับเคลื่อนแก้ปัญหาอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยกรมการปกครอง ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 994 ล้านบาท เพื่อจัดโครงการช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด รุ่นละ 50 คน จำนวน 2,000 รุ่น รวม 100,000 คน เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมาย ได้เข้าสู่ระบบฟื้นฟูและการบำบัดรักษาด้วยโปรแกรมที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายด้านยาเสพติด เป็นนโยบายที่ต้องบูรณาการร่วมกัน ทั้งการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา โดยเฉพาะการบำบัดรักษาและฟื้นฟู โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งหน่วยบริการบำบัดรักษา ดังนี้
- จัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชและบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่โรงพยาบาลจังหวัดครบทุกจังหวัดแล้ว
- ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ผลิตจิตแพทย์เพิ่มเติม 800 คน และพยาบาลจิตเวช 3,000 พันคน โดยจะดูแลผู้ป่วยเป็นรายบุคคล มี อสม. เป็นกลไกในพื้นที่ร่วมแก้ปัญหายาเสพติด
ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า ภารกิจการแก้ปัญหายาเสพติดยังไม่จบ การทำงานต้องบูรณาการพื้นที่ที่ต้องสู้ต่อไป เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องน้อมนำพระราชกระแสรับสั่ง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงย้ำว่า "หนองบัวลำภูอย่าให้เหตุการณ์นี้สูญเปล่า ขอให้แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง"
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทุกจังหวัด เป็นขุนพลช่วยสนับสนุน ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ลงพื้นที่แก้ปัญหา และติดตามการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะ “การลงพื้นที่” เป็นคำตอบสุดท้ายที่พี่น้องประชาชนจะพึงพอใจและรู้สึกว่าปลอดภัย
ขณะที่ นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ขอให้ขยายผลต้นแบบนี้ไปยังทุกจังหวัด พร้อมทั้งขอสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ขอรับสนับสนุนงบกลาง 994 ล้านบาท เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งย้ำเตือนประชาชน ได้ช่วยกันสร้างการรับรู้โทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยหากผู้ใดยินยอมให้ผู้อื่นนำบัตรประชาชน
ไปเปิดบัญชี หรือซิมการ์ดโทรศัพท์ หรือเอาไปให้ผู้อื่นใช้เช่าบ้าน ทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับยาเสพติด ต้องรับโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งพนักงานสอบสวน สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ทันที
นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ขอให้ทุกอำเภอได้เตรียมความพร้อมโครงสร้างและกระบวนการทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่ให้พร้อมดำเนินการได้ทันที พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นเรื่องเร่งด่วน และเรื่องที่สำคัญของเราพวกเราทุกคน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้อประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้สนธิความคิด สนธิกำลัง สนธิแผนงานและแนวทางการขับเคลื่อนที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของหนองบัวลำภูและตำรวจภูธรภาค 4 ขยายผลทำให้ทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ได้รู้จัก “หัวโทนโมเดล” และ “ผ้าป่าผู้ค้ายาเสพติด” ไปประยุกต์ใช้ ตามภูมิสังคม