‘ผู้สูงอายุ’ หลังโควิดน่าห่วง อยู่รอดได้ แต่ต้องพึ่งพา ‘ครอบครัว’ 73%
‘ผู้สูงอายุ’ หลังโควิดอยู่ในภาวะยากลำบาก รับเบี้ยยังชีพจากรัฐหลักร้อย รับเงินหลักพันเมื่อวัย 90 ปี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดตัวเลข ร้อยละ 27 พึ่งพาตัวเอง อีกร้อยละ 73 ต้องพึ่งพาครอบครัว ชี้ครอบครัวพัง ก็อยู่ไม่ได้ แนะรัฐอุดหนุนเดือนละ 4,000 บาท
ปี2566 แม้เข้าสู่ปีที่ 4 ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ร่องรอยบาดแผลที่ทิ้งเอาไว้กับพลเมืองโลก และ พลเมืองไทย โดยเฉพาะสังคม ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบรุนแรงมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้สูงวัยจะดำรงชีพให้รอดได้อย่างไร
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ฉายภาพเสี้ยวชีวิตของสังคมผู้สูงอายุประเทศไทย กับ “คมชัดลึก” ว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่สภาพความเป็นจริง และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุน่าเป็นห่วงมากๆ ด้วยข้อเท็จจริงผู้สูงอายุในปัจจุบันตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งพาครอบครัว หรือ ลูกหลาน
หลังโควิด-19 ผู้สูงอายุลำมากมากขึ้น จากการสูญเสียเสาหลักในครอบครัว อีกทั้งหน่วยงานรัฐไม่มีโครงการ หรือ หลักประกันดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ภาพรวมผู้สูงวัยอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะครอบครัวเกษตรกร ครอบครัวแรงงานในพื้นที่ภาคอีสาน มีจำนวนมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นของประเทศ
เมื่อดูรายได้ ผู้สูงอายุที่มาจากครอบครัวเกษตรกร มีประมาณร้อยละ 27 ที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่อีกร้อยละ 73 ผู้สูงวัยจำเป็นต้องพึ่งพาครอบครัว หรือ รายได้จากลูกหลานเป็นหลัก หากครอบครัวพังผู้สูงวัยก็อยู่ไม่ได้
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนจากรัฐต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต โดยเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุดังนี้ อายุ 60-69 ปีได้รับเงิน 600 บาท/เดือน - อายุ70-79 ปีได้รับเงิน 700 บาท/เดือน - อายุ80-89 ปีได้รับเงิน 800 บาท/เดือน - อายุ90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน
“เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่รัฐอุดหนุนผู้สูงวัยในแต่ละเดือนไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ที่มีภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนพลังงานสูง ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกพบว่าผู้สูงอายุควรมีรายได้ต่อวัน 200-300 บาท หรือตกเดือนละ 3,000-4,000 บาท ถึงจะอยู่รอดได้ แต่อยู่บนพื้นฐานมีบ้านพักอาศัยไม่ต้องเช่าบ้าน มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ”
ไม่นับรวมผู้สูงอายุที่มีภาวะยากลำบาก จากโรคไม่ติดต่อ หรือ ผู้ป่วยติดเตียง คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุประเทศไทยน่าเป็นห่วงมาก เมื่อเทียบกับ ลาว เขมร เขายังพึ่งพาธรรมชาติได้ แต่ประเทศไทยธรรมชาติเราหมดแล้ว ในไร่นาในอดีตยังมี กุ้ง, หอย, ปู,ปลา,กบ,เขียด แต่ปัจจุบันหาสิ่งเหล่านี้ไม่ได้แล้ว หาลำบาก พึ่งได้ยาก หมดไปแล้ว ต้องพึ่งรัฐ แต่รัฐช่วยผู้สูงวัยได้นิดเดียว ในที่สุดต้องพึ่งพาครอบครัว หากครอบครัวไทยมีปัญหา ผู้สูงวัยจะไร้ที่พึ่ง ทุกอย่างก็จบ
"ผมทำโครงการเกี่ยวเครือข่ายเศรษฐกิจสมานฉันท์ หลักการพยายามให้สินค้าไหลเวียนจากชุมชนชนบทสู่ผู้บริโภคในเมือง ไม่มีพ่อค้าคนกลาง รูปแบบการดำเนินการพยายามทำให้ชาวบ้านในชนบท ทุกคนสามารถมีผลิตภัณฑ์เป็นของครอบครัว เชื่อมโยงสหภาพแรงงาน ให้แต่ละพื้นที่มีตลาดท้องถิ่นมาสู่เมือง คนเมืองบริโภค คนชนบทผลิต"
ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ให้การสนับสนุนโครงการเครือข่ายเศรษฐกิจสมานฉันท์ มีตลาดศูนย์รถไฟ จัดสถานที่ให้ จัดอาคารให้ชาวบ้านได้นำสินค้าปลอดสารพิษมาขายในราคาไม่สูง ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เช่น กล้วยหวีละ 30-40 บาท หรือ ผักสดกำละ 10-20 บาท
....กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง