สพฉ. เปิดหลักเกณฑ์ 'รถกู้ชีพ' มีขั้นตอนอย่างไร เช็กสัญญาณไฟวับวาบ สีไหนใช้กับรถอะไร พร้อมเปิดราคา 1 คัน ใช้งบเท่าไร
การเจ็บป่วยฉุกเฉิน จำเป็นต้องบริการตรวจ และรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต หรืออาการเจ็บป่วย บาดเจ็บรุนแรงขึ้น การจะเรียกรถพยาบาล รถกู้ชีพ หรือ รถกู้ภัย บางทีก็แยกไม่ออก รถกู้ชีพ รถกู้ภัย แบบไหนได้มาตรฐาน ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ. กำหนด
คมชัดลึกออนไลน์ ได้สอบถามข้อมูลไปยัง ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมาเลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ได้ไขความกระจ่าง คำว่า รถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ รถกู้ชีพ ที่ตีความได้ว่า รถ หรือยานพาหนะทางบก ทุกชนิด (ยกเว้นรถไฟ หรือ รถราง) ที่ปฏิบัติการฉุกเฉิน นับแต่การรับรู้ถึงภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน จนถึงการดำเนินการให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้รับการบำบัด รักษาให้พ้นภาวะฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงการประเมิน การจัดการ การประสานงาน การควบคุม ดูแล การติดต่อสื่อสาร การลำเลียง หรือขนส่ง การตรวจวินิจฉัย และการบำบัดรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งนอกสถานพยาบาล และในสถานพยาบาล
"รถกู้ชีพ" รถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ สพฉ.จะรับรองมาตรฐาน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาต ไม่ใช้ไฟสัญญาณวับวาบ และเสียงสัญญาณ ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- ประเภทลำเลียงผู้ป่วย ซึ่งเป็นรถที่มีเตียงและมีพื้นที่ในการปฏิบัติการแพทย์สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีลักษณะ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ตามกำหนด
- ประเภทไม่ลำเลียงผู้ป่วย ซึ่งเป็นรถที่ไม่มีเตียงสำหรับรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่สามารถปฏิบัติการแพทย์ และปฏิบัติการอำนวยการ หรือลำเลียงอวัยวะ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องมื่อสื่อสาร หรือบุคลากร ทางการแพทย์ สำหรับให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีลักษณะ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ตามที่กำหนด
รถกู้ชีพ ที่จะขอรับการรับรองมาตรฐานรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ต้องมีลักษณะ หรือได้รับการจดทะเบียน ดังนี้
- จดทะเบียนในนามหน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคล หรือผู้ปฏิบัติการที่มีบันทึกข้อตกลง หรือสัญญาร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคล
- จดทะเบียน ต่อทะเบียน ชำระภาษีรถยนต์ และภาษีสรรพสามิต ถูกต้องครบถ้วน
- ในกรณีเป็นรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ประเภทลำเลียงผู้ป่วย ต้องจดทะเบียนเป็นรถพยาบาลตามกฎหมาย ว่าด้วยพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522
- การขอรับรองเป็นรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินครั้งแรก รถต้องมีอายุไม่เกิน 7 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน
- จัดให้มีประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ โดยมีความคุ้มครองตามกรมธรรม์รถยนต์
หลักเกณฑ์การออกรถกู้ชีพ
- รถบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ สพฉ.ออกหนังสือรับรองมาตรฐานแล้ว ให้ระยะเวลาการรับรองมีผลคราวละ 3 ปี
- รถบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่จะขอต่ออายุการรับรองมาตรฐาน ต้องมีอายุรถไม่เกิน 12 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน เว้นแต่รถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็น
- ให้รถที่ผ่านมารับรองมาตรฐาน และได้รับการอนุญาตเป็นรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีสิทธิใช้ไฟสัญญาณวับวาบ และเสียงสัญญาณไซเรนได้ตามกฎหมาย ว่าด้วยการจราจรทางบก โดยให้ติดตั้งไฟสัญญาณวับวาบ บนหลังคารถ โดยวางตำแหน่งไฟสัญญาณวับวาบแสดงแดง ไว้ที่ด้านขวาเหนือผู้ขับขี่ แสงน้ำเงินอยู่ฝั่งซ้าย เหนือสรีระของผู้ขับขี่
ทั้งนี้ การอนุญาตติด "ไซเรน" หรือ "สัญญาณไฟวับวาบ" นั้น ก็เพื่อการปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ ใช้ในกรณีเกิดอุบัติภัยต่าง ๆ หรือในกิจการสาธารณประโยชน์ หรือกิจการสาธารณูปโภค อันเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน หรือการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน อันเป็นกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์
การขออนุญาตติดตั้งและใช้สัญญาณไฟวับวาบหรือไฟไซเรน ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น
หากไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 13 และมาตรา 132
- ติดตั้งไฟไซเรน แต่ขณะจับกุม ไม่ได้ใช้ มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
- ใช้ไฟไซเรน มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- ใช้เสียงไซเรน มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
รถที่สามารถขออนุญาตติดตั้งไฟไซเรนได้
- รถในราชการทหาร หรือตำรวจ
- รถดับเพลิง และรถพยาบาลของทางราชการ
- รถอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- รถอื่น ๆ ของเอกชน
สีของไฟสัญญาณวับวาบ ที่สามารถใช้ได้
- แสงสีแดง สำหรับรถในราชการทหาร/ตำรวจ และรถดับเพลิง
- แสงสีแดง-น้ำเงิน สำหรับรถพยาบาล
- แสงสีเหลือง สำหรับรถอื่น ๆ มูลนิธิ, ชมรม, อาสาต่าง ๆ
เลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า ปัจจุบัน จำนวนรถกู้ชีพที่อยู่ในระบบของ สพฉ. มีจำนวนกว่า 10,000 คัน และ บุคลากรร่วมแสนคน โดยราคารถกู้ชีพ ที่สำนักงบประมาณกำหนดไว้
- รถตู้ 1 คัน พร้อมอุปกรณ์ ราคาอยู่ที่ 2 ล้าน 5 แสนบาท
- รถกระบะ 1 คัน พร้อมอุปกรณ์ ราคาอยู่ที่ 1 ล้าน 5 แสนบาท
ส่วนเอกชนนอกระบบ เลขาธิการ สพฉ. บอกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นรถมือสอง ที่นำมาดัดแปลง เลี่ยงภาษี และเลี่ยงการขนส่ง