รวมพลังงานแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ 'อมก๋อย' สร้างน้ำสะอาดให้ชุมชน
กรมชลฯ ผนึกสมาคมยี่สิบสองนอแก้ปัญหาน้ำพื้นที่ 'อมก๋อย' สร้างระบบน้ำสะอาดแก่ชุมชนบ้านขุนหาด-ห้วยตองหลวง สอดรับแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
กรมชลประทาน ร่วมกับสมาคมยี่สิบสองนอ จัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) สร้างระบบน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลใน 2 ชุมชน บ้านขุนหาดและห้วยตองหลวง ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สอดคล้องนโยบายรัฐบาลและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พร้อมตรวจวัดสายตาประกอบแว่นฟรีแก่ประชาชน
นางณภัทร เวียงคำมา ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์กรมชลประทาน กล่าวภายหลังนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ 'อมก๋อย' จ.เชียงใหม่ว่า กรมชลประทาน ได้ร่วมกับสมาคมยี่สิบสองนอ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อทำงานเพื่อสังคมในพื้นที่ชนบท ด้วยการสร้างระบบ น้ำสะอาด เพื่อบริโภค-อุปโภคของประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร ตามนโยบายของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานที่มอบหมายให้ดำเนินการจัดกิจกรรมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของกรมชลประทาน ( Corporate Social Responsibility : CSR) ขึ้นในพื้นที่ชนบทตามภูมิภาคจังหวัดต่าง ๆ นอกเหนือจากภารกิจหลักของกรมชลประทานในการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาอันเกิดจากน้ำ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หรือการรักษาระบบนิเวศน์ทางน้ำ
นางณภัทรกล่าวต่อว่าการสร้าง ระบบน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นการสร้างทั้งระบบ ตั้งแต่การสร้างฝายชะลอน้ำ ถังกักเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ จุดจ่ายน้ำ และระบบกรองน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ 2 หมู่บ้านคือ บ้านห้วยตองหลวง หมู่ที่ 6 และบ้านขุนหาด หมู่ที่ 15 ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ เพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนทั่วประเทศ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
นอกจากนี้กรมชลประทานเล็งเห็นว่าประชาชนพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้านดังกล่าว ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 150 ครัวเรือน หรือประมาณกว่า 700 คน ยังขาดโอกาสทางด้านสุขภาพ ทางสมาคมยี่สิบสี่นอ จึงได้ดำเนินโครงการแว่นตาเพื่อประชาชนด้อยโอกาสในพื้นที่ทุรกันดาร โดยได้ตรวจวัดสายตาแจกแว่นสายตา และแว่นถนอมสายตาให้ประชาชนฟรี พร้อมจัดนิทรรศการให้ความรู้งานด้านชลประทาน และมอบอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา ผ้าห่มกันหนาว ให้แก่เยาวชนประชาชน ในพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้านดังกล่าวอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างความเท่าทียม เพิ่มโอกาสทางการศึกษา การกีฬา และสาธารณสุขควบคู่ไปด้วย
ขณะที่ นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า อำเภออมก๋อม ที่กรมชลประทานเข้าไปดำเนินกิจกรรม CSRครั้งนี้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.3 ล้านไร่ ประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน หรือแต่ละตำบลใช้น้ำจากลำห้วยต่าง ๆ ในแหล่งของตน ซึ่งจะมีปัญหาน้ำแล้งในฤดูแล้ง คือ เดือนมีนาคม-เมษายน
สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภออมก๋อยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการขยายผลแบบโครงการหลวง โดยเป็นลักษณะโครงการชนาดเล็ก เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายขนาดเล็ก และระบบประปาภูเขาเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้น
โดยที่ผ่านมากรมชลประทานได้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ในพื้นที่ดังกล่าวอีก 36 โครงการ สามารถกักเก็บน้ำได้ 1.24 ล้านลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 26,401 ไร่ โดยล่าสุดเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดหาน้ำสนับสนุนโรงเรียนบ้านห่างหลวง และโรงเรียนแม่ตื่นวิทยา ภายใต้โครงการจัดหาน้ำสนับสนุน 19 โรงเรียนตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และงานจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรบ้านผาแดงใหม่ระบบท่อส่งน้ำฝายตะอุโกร พร้อมอาคารประกอบ
กรมชลประทานได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภออมก๋อย โดยขณะนี้กำลังดำเนินโครงการหลายโครงการ เช่น ฝายบ้านนาเกียนใหม่ ฝายบ้านนาเกียนกลาง ฝายบ้านนาเกียนเก่า พร้อมระบบส่งน้ำ จัดหาน้ำสนับสนุนโครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ พื้นที่รับประโยชน์รวม 173 ไร่ เป็นต้น
นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่อมก๋อยยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญ คือ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ที่ทุกปีจะมีปริมาณน้ำไหลทิ้งออกนอกประเทศ มาเติมลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล บริเวณดอยเต่า โดยแนวอุโมงค์ส่งน้ำจะพาดผ่านเขตพื้นที่อำเภออมก๋อย โครงการฯดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อำเภออมก๋อย และ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
านนายรัฐศักดิ์ พลสิงห์ เลขาธิการสมาคมยี่สิบสองนอกล่าวรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมกับกรมชลประทานในการพัฒนาระบบน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค-อุปโภคให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการร่วมกับกรมชลประทานมาแล้วในหลายจังหวัด ส่วนใหญ่ติดตั้งถังกรองน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค-บริโภค ต่างจากครั้งนี้ที่ได้ดำเนินการทั้งระบบ ตั้งแต่การสร้างฝายชะลอน้ำ ถังกักเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ จุดจ่ายน้ำ และระบบกรองน้ำดื่มที่ได้มาตรฐาน
ปกติจะทำแค่ติดตั้งถังกักเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ จุดจ่ายน้ำ และระบบกรองน้ำดื่มสะอาด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้ดำเนินการทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ แม้อ.อมก๋อยจะเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำ แต่ในฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำอย่างมาก นายรัฐศักดิ์กล่าวย้ำ