'ผู้ว่าฯกทม.'สั่งสอบปมเรียกรับเงินค่าตำแหน่งพนักงานขับรถขยะ
"ผู้ว่าฯกทม" สั่งสอบกรณีพนักงานขับรถขยะร้องเรียนหน่วยงานต้นสกัด เรียกรับเงินค่าตำแหน่งพนักงานขับรถขยะขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ หากพบผิดจริงมีโทษทั้งอาญาและวินัยสูงถึงไล่ออกจากราชการ
21 ก.พ.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่าทราบเรื่องที่พนักงาน กทม. ออกมาแฉกรณีถูกเรียกรับเงินเพื่อแลกกับตำแหน่งคนขับรถขยะคันใหญ่ทั้งที่สอบได้ตามระเบียบ และยังต้องจ่ายรายเดือนให้หัวหน้าโดยได้สั่งการให้ทางนายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตั้งคณะทำงานดำเนินการสอบสวนผู้บริหารที่ถูกกล่าวอ้างว่ามีการเรียกรับค่าตำแหน่งแล้ว และจะดำเนินให้ได้ถึงผู้ใหญ่ในเขต เพราะส่วนตัวเชื่อว่าต้องมีบุคคลที่สูงกว่าอยู่เบื้องหลังด้วย
และเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ในการเรียกเก็บเงินและทุจริตต่างๆ ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด เพราะพนักงานชั้นผู้น้อยมีความเป็นอยู่ยากลำบากอยู่แล้ว และยิ่งไปเรียกเก็บเงินอีก ต้องให้เรื่องนี้โปร่งใสและให้ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด โดยเรื่องที่เกิดขึ้นในเขตดังกล่าว ก็อยากให้ส่วนกลางเข้าไปตรวจสอบเนื่องจากในพื้นที่อาจจะมีความคุ้นเคยกันมีความเกรงใจกัน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมจึงความจำเป็นที่จะต้องชี้แจ้งให้กับประชาชนรับทราบด้วย
คณะทำงานในการตรวจกรณีดังกล่าวนำโดยนายเฉลิมพล รองปลัดกทม. เป็นหัวหน้าในการดูแลเรื่องนี้ มีการดำเนินงานหลาย ๆ เรื่องทั้งกฎหมายอาญาและทางวินัย
นายชัชชาติ ยังระบุอีกว่าพนักงานเก็บขยะ กทม. มีอัตราการบรรจุไม่มากซึ่งเป็นไปตามการจัดสรรซึ่งมีทั้งเป็นพนักงานชั่วคราวซึ่งจะไม่ได้สิทธิที่ครอบคลุมกับพนักงานที่บรรจุเป็นบุคลากรของกรุงเทพมหานคร โดยลูกจ้างชั่วคราวจะได้เงินเดือนตามฐานขั้นต่ำ 8,000 บาท รวมกับค่าครองชีพเป็นเงินทั้งหมด 12,000 บาท
และตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งได้มีการปรับการบรรจุจากอัตราร้อยละ1 เป็นร้อยละ 4 ซึ่งการปรับบรรจุนั้นจะมีการพิจารณาเช่น ประสบการณ์การทำงาน และการสอบเก็บคะแนนต่าง ๆ ในส่วนของพนักงานเก็บขยะ ตามหลักการแต่ละเขตจะอำนาจบริหารจัดการฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ซึ่งการปรับตำแหน่งและบรรจุส่วนกลางจะเป็นคนระบุให้แต่ละเขตเป็นคนจัดสรร อยู่อัตราร้อยละ 4 ของลูกจ้างทั้งหมดในแต่ละเขตนั้น ๆ ซึ่งถือว่ามีการปรับอัตราแก้จากเดิมเพิ่มเป็น 4 เท่า ซึ่งการปรับให้เป็นบุคลากรกทม.จะได้สิทธิที่ครอบคลุมและมีการปรับอัตราเงินเดือนขึ้นทุกปี
ในปัจจุบันกทม. มีรถขยะ 2 รูปแบบ คือ แบบ 5 ตัน มีคนขับ 1 เจ้าหน้าที่เก็บขยะส่วนท้าย 4 คน ส่วนรถขยะแบบ 2 ตัน มีพนักงานขับรถ 1 คน และพนักงานเก็บขยะส่วนท้าย 2 คน หากสังเกตรถขยะในปัจจุบันจะเห็นว่า บางคันจะทำการแยกขยะบนรถ ซึ่งขยะที่แยกมีมูลค่านำไปขายต่อก่อนถึงโรงแยกขยะกทม.ทำให้รถขยะบางทีมีรายได้เพิ่มเข้ามาจากการแยกขยะดังกล่าว
ทั้งนี้นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการลงพื้นที่ผู้ว่าฯ สัญจรเคยได้มีการพูดคุยกับพนักงานเก็บขยะ พบว่า มีการสะท้อนเรื่องปัญหาด้านสวัสดิการความเป็นอยู่ ซึ่งตนได้มีการสอบถามว่าได้มีเรียกรับเงินหรือไม่ ก็ไม่มีพนักงานคนไหนให้ข้อมูลเรื่องนี้
ด้าน รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบ ระบุว่าการสอบสวนอาจใช้เวลาประมาณ 7 ถึง 15 วัน / ซึ่งหากพบว่ามีการเรียกรับส่วย จะมีการดำเนินการ ใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ ความผิดทางอาญา และ ความผิดทางวินัย ทั้งนี้ได้มีการขออำนาจผู้ว่าฯ กทม. ในการขอย้ายหัวหน้างานที่ถูกอ้างว่ามีการเรียกรับค่าตำแหน่งเข้ามาปฏิบัติงานในส่วนกลางก่อน เพื่อความโปร่งใสและสะดวกในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำความผิดจริงก็จะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดให้ออกจากราชการทันที
ขณะเดียวกันหากพนักงานที่ร้องเรียนคนดังกล่าว มีการเสนอเงินเพื่อแลกกับตำแหน่งที่ต้องการจะมีความผิดด้วยหรือไม่นั้น รองปลัดฯ ระบุว่า มีกฎหมายของ ป.ป.ท. ที่จะเข้ามาคุ้มครองอาจจะเข้ามากันบุคคลนี้เป็นพยานเพื่อเปิดเผยข้อเท็จ เพราะเชื่อว่าพนักงานคนดังกล่าว อาจเข้าใจว่าการที่จะเลื่อนตำแหน่งจะต้องมีการจ่ายเงินให้ ตามที่ปฏิบัติกันมายาวนาน