ข่าว

ผลวิจัยใหม่พบ ‘สูบบุหรี่ไฟฟ้า’ ทำลายดีเอ็นเอเสี่ยงมะเร็ง เทียบเท่าบุหรี่

ผลวิจัยใหม่พบ ‘สูบบุหรี่ไฟฟ้า’ ทำลายดีเอ็นเอเสี่ยงมะเร็ง เทียบเท่าบุหรี่

21 ก.พ. 2566

เปิดผลวิจัยใหม่ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบคน ‘สูบบุหรี่ไฟฟ้า’ ทำลายดีเอ็นเอ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง เทียบเท่า บุหรี่ธรรมดา

21 ก.พ. 2566 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลงานวิจัยใหม่ โดยคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้ดีเอ็นเอของเซลล์ในช่องปากถูกทำลายไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งการที่ดีเอ็นเอถูกทำลายนี้จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ รวมทั้งโรคมะเร็ง 

 

โดยนักวิจัยคัดเลือกผู้ใหญ่ 72 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

  1. ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า (ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดาเลย)
  2. ผู้สูบบุหรี่ธรรมดา (ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเลย)
  3. ผู้ที่ไม่มีประวัติสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา

 

เก็บข้อมูลประวัติการสูบ ความถี่ ชนิดของบุหรี่ที่สูบ และความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด และเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุช่องปากทุกคนเพื่อนำมาตรวจลักษณะของดีเอ็นเอ

 

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า ผลวิจัยพบว่าคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุช่องปากถูกทำลายเป็น 2.6 เท่า ส่วนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาพบดีเอ็นเอถูกทำลายเป็น 2.2 เท่าเมื่อเทียบกันคนที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ใด ๆ ในกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่ายิ่งสูบมากขึ้น ดีเอ็นเอยิ่งถูกทำลายมาก หากพิจารณาตามชนิดบุหรี่ไฟฟ้าที่สูบ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอด ดีเอ็นเอถูกทำลายมากที่สุด หากพิจารณาตามรสชาติบุหรี่ไฟฟ้าที่สูบ เช่น รสผลไม้ รสเมนทอล พบดีเอ็นเอถูกทำลายมากขึ้น ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับระดับนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า คือไม่ว่าจะมีนิโคตินมากหรือน้อยก็ส่งผลให้ดีเอ็นเอถูกทำลายเช่นกัน

 

“งานวิจัยชิ้นนี้ขจัดข้อสงสัยของกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าที่มักออกมาโต้แย้งงานวิจัยที่แสดงถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมักอ้างว่าเป็นเพราะคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน เพราะงานวิจัยชิ้นนี้คัดเลือกคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดาเลย ดังนั้นผลการศึกษาจึงบอกได้อย่างชัดเจนว่า การที่เซลล์ดีเอ็นเอถูกทำลายซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งนี้เป็นผลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจริง ๆ ที่สำคัญงานวิจัยในหนูทดลอง พบว่า หนู 9 ตัว จาก 40 ตัวที่ได้รับไอบุหรี่เป็นเวลาหนึ่งปีเศษ เป็นมะเร็งปอด และ 22 ตัวมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะที่เหมือนเนื้อมะเร็งระยะแรก” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี

 

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ระบุว่า การที่กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าพยายามให้ข้อมูลกับสังคมว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษน้อยกว่า ทำให้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เชื่อถือไม่ได้แล้วเพราะสารพิษน้อยกว่าไม่ได้หมายความว่า อันตรายน้อยกว่า นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารเคมีอีกกว่า 2,000 ชนิดที่ไม่พบมาก่อนในบุหรี่ธรรมดา 

 

ส่วนกรณีบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังเป็นประเด็นดราม่าในสังคมไทย และมีนักการเมืองหลายพรรคกำลังมีความคิดว่าจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อยากให้พิจารณาผลการศึกษาวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบคอบ คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคม

 

โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะหลงเข้าไปเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าให้มาก ๆ ข้ออ้างที่ว่าทำบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายเพื่อลดปัญหาคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด ที่ถูกต้องคือแก้ที่เจ้าหน้าที่ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็กและเยาวชนมากกว่า