ข่าว

นักวิชาการ วิพากษ์ 'คนรุ่นใหม่' ไม่ทนกับระบบเดิมๆ

นักวิชาการ วิพากษ์ 'คนรุ่นใหม่' ไม่ทนกับระบบเดิมๆ

23 ก.พ. 2566

นักวิชาการ วิพากษ์ สังคมไทยไม่ความจำสั้น ขับเคลื่อนด้วยพลังด่า ระบบราชการล้าหลัง กระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน ขาดเวทีกลาง เกิดแรงกดดันรุนแรงจากภาคประชาสังคม ‘คนรุ่นใหม่’ ไม่ทนกับระบบเดิมๆ แต่สนใจเลือกตั้ง2566 เน้นดูนโยบายพรรคมากกว่าบุคคล

เจาะข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ล่าสุดปี 2564 มีรวม 52 ล้านคน หากนับเฉพาะ คนรุ่นใหม่ ที่เป็น นิวโหวตเตอร์ ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในปี 2566 จำนวน 811,607 คน น้อยกว่าปี 2562 ราว 2.5 หมื่นคน

 

Gen Y อายุระหว่าง 19-39 ปี อยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต ทำให้คนรุ่นใหม่มีการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว 

 

สำหรับการเลือกตั้ง2566 สังคมไทย รวมทั้ง คนรุ่นใหม่ มองการเมืองไทย แบบไหน อย่างไร “คมชัดลึก” สะท้อนผ่านมุมมองของ "ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง" อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อย่างน่าสนใจ มีรายละเอียดดังนี้

 

"การเมืองไทยปี2566 จะเห็นความแตกต่างของชุดความคิด เกิดสงครามระหว่างวัย มีความขัดแย้งในชุดควมคิด จากนิยามคำว่า กาลเทศะ

 

คำว่ากาละ กลุ่มคนรุ่นใหม่ มองว่าเป็นการสร้างความชอบธรรม การเมืองต้องยกระดับ อยากเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ไม่ทนกับระบบเดิมๆ ส่วนคำว่า เทศะ กลุ่มวัยกลางคน และคนสูงวัย คนกลุ่มนี้ มองว่าคนอยู่ร่วมกัน ใครจะมาเปลี่ยนแปลง มันเหมาะสมหรือไม่ เป็นการปะทะชุดความคิด ของคนสองวัย"

 

 

เราขาดเวทีกลางในการรับฟังของคนระหว่างวัย ขาดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ มีเวทีเบบนี้น้อยเกินไป คนสองวัยสร้างกลุ่ม สนองรสนิยม ใครมีมุมมองกลุ่มใดก็ถูกผลักให้เลือกข้าง แต่ไม่สร้างเวทีร่วม ในปี2566 คนไทยเราโหยหาเวทีกลางแต่ไม่มีเวทีกลาง

 

ทุกอย่างกลับไปมองว่ามีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ การตั้งธงชุดความคิด การเมืองที่สร้างความสงบสุขต้องมีเวทีกลาง เป็นจุดร่วมสงวนจุดต่างเพื่อหาทางออก ทุกวันนี้สังคมไทยและการเมืองไทยมีพัฒนาการไปในทางที่ดี ผู้มีอำนาจจะหวังให้ได้ 100% ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

ต่อไปจะไม่มีอีกแล้ว อย่างมาก ได้ 60 % เสีย 40 %   หรือ 70 % : 30 % อนาคตจะเป็นแบบเซทซีโร่ไมไ่ด้แล้ว ต้องรอมชอมปรองดองกัน หาพื้นที่ หาทางออก หาผลสรุปร่วมกัน

 

“ปรากฏการณ์เหล่านี้ เกิดจากยุคไร้พรมแดน สื่อดิจิทัลมีบทบาทสำคัญ เกิดยุคที่มีการตรวจสอบ เกิดการสร้างกระบวนการตรวจสอบ การเปลี่ยนแปลงนอกประเทศมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ส่งต่อการตรวจสอบ สร้างความโปรงใส การขับเคลื่อนของภาคประชาชนมีผลต่อความคิดความเชื่อ เกิดความคาดหวัง”

 

ปี2566 สังคมไทยขับเคลื่อนด้วยพลังด่า เพราะระบบราชการล้าหลัง กระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน เกิดแรงกดดันรุนแรงจากภาคประชาสังคม 

 

ภาพรวมการเมืองไทยดีขึ้น แต่ผู้มีอำนาจยังย้อนยุค เข้าวังวนเดิม ทำให้การผลันดันเปลี่ยนแปลง ติดหลุ่มอำนาจ กลายเป็น conflict of interest มีผลประโยชน์ทับซ้อน หากการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง จะนำไปสู่การแชร์ความรู้ การได้รับการเคารพสิทธิมากขึ้น ตามที่ปรากฏเมื่อเป็นประเด็นสาธารณะ และเป็นคนสาธารณะ เมื่อผิดพลาดเกิดการสารภาพ การขอโทษ ระยะหลังมีมากขึ้น สังคมไทยไม่ยอมรับการเมืองแบบเก่าๆ แล้ว

 

ตัวอย่าง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ขอโทษประชาชน ข่าวอื้อฉาววงการตำรวจเรียกรับผลประโยชน์นักท่องเที่ยวไต้หวัน เหตุการณ์แบบนี้หากเป็นเมื่อ 30 ปี เราจะไม่เห็นผู้นำองค์กรสูงสุดออกมายอมรับ หรือ เคารพการเรียกร้องความรับผิดชอบ นักการเมือง และพรรคการเมือง ข้าราชการ ถูกตรวจสอบมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดี โปร่งใสมากขึ้น

 

ปี2566 ประชาชน พัฒนาล้ำหน้า และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เกิดขึ้นมาแล้ว มีทิศทางที่ดีหลายเรื่อง ทั้งเรียกร้องผลการสอบสวน ชุดความคิดภาคประชาสังคมเติบโตจริงๆ 

 

"ม็อบ" หรือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง จะถูกตรวจสอบจากภาคประชาชนมากขึ้น กลุ่มเคลื่อนไหวภาคประชาชน สังคมไทยต้องเรียนรู้ ว่ารับใช้ใคร หรือ ทำเพื่ออะไร การเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องสง่างาม และ มุ่งประโยชน์เพื่อส่วนรวม ไม่มุ่งทำร้ายฝ่ายตรงกันข้าม ไม่มี 2 มาตรฐาน หรือ เลือกปฏิบัติเพื่อพรรคพวกของตัวเอง คนไทยตื่นตัวและรู้ทันในเรื่องนี้มากขึ้น

 

เลือกตั้ง2566 คนรุ่นใหม่ เลือกนโยบายที่ทำได้จริง

เลือกตั้ง2566 คนรุ่นใหม่ สนใจอุดมการณ์มาก จะศึกษานโยบายทุกพรรคการเมืองว่าเป็นนโยบายที่ทำได้จริงไหม ตัวนักการเมืองก็มีความสำคัญ แต่นโยบายพรรคจะมาก่อน แต่คนรุ่นเก่ารักผูกพันกับคนรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ตรงข้ามกับคนรุ่นใหม่ที่เน้นนโยบายมีผลอย่างมาก รวมทั้งผลงานของพรรคการเมืองถือเป็นเครติด หรือ สารตั้งต้น เรื่องนโยบายพรรคมีผลต่อการเลือกตั้ง2566 แน่นอน

 

“นโยบายพรรคการเมืองทำได้จริงหรือไม่ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาประเทศได้จริงไหม สังคมไทยไม่ความจำสั้น ดูอย่างพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี2562 ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 420 บาท : วัน  แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วไม่สามารถทำได้ สังคมไทยก็ทวงถาม และ ลดความเชื่อมั่นกับพรรคการเมืองออกนโยบายแล้วทำไม่ได้จริง อย่าลืมว่าการเมืองปี2566 สังคมไม่ความจำสั้นอีกต่อไปแล้ว”

 

ขณะที่ ยุคนี้ นักวิชาการ กลายเป็นกลุ่มเปราะบาง หรือ ถูกผลักไสให้เลือกข้างในทันที หากการแสดงความเห็นทางวิชาการ ไม่ได้ให้แง่คิดมุมสองด้าน รอบด้าน ครอบคลุม ไม่วางตัวเป็นกลาง หรือ การแสดงความคิดเห็นนั้นไปกระทบกับความความเชื่อของอีกฝ่าย นักวิชาการก็จะถูกผลักไสให้เลือกข้างไปโดยอัตโนมัติ ความเป็นกลางหายไป.

 

....กมลทิพย์  ใบเงิน...เรียบเรียง...