ข่าว

นักวิชาการ ถอดบทเรียน 'นิ่ม' วงจรซ้ำซาก อย่าเอามาตรฐานสังคมตัดสิน

นักวิชาการ ถอดบทเรียน 'นิ่ม' วงจรซ้ำซาก อย่าเอามาตรฐานสังคมตัดสิน

28 ก.พ. 2566

เปิดมุมมองนักวิชาการ ถอดบทเรียน 'นิ่ม' วงจรที่เกิดขึ้นซ้ำซาก อย่าเอามาตรฐานสังคมตัดสิน ควรแก้ที่จุดไหน เพื่อลดการเกิดเหตุการณ์แบบนี้

เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ภายหลังที่ มูลนิธิกระจกเงา นำบทสัมภาษณ์ของ 'นิ่ม' มารดา 'น้องต่อ' เด็กชายวัย 8 เดือน ที่ถ่ายทอดปูมหลัง ตั้งแต่วัยเด็ก ที่เธอต้องพบเจอ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ เธอสารภาพว่า นำร่างของ น้องต่อ ไปทิ้งไว้ที่ริมน้ำ แต่จนถึง ณ เวลานี้ก็ยังคงตามหาไม่พบ

 

 

ซึ่งจากบทสัมภาษณ์นี้ ได้สร้างกระแสในสังคมออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งที่เข้าใจเห็นใจ กับ อีกฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเอาสิ่งที่พบเจอมาเป็นปัจจัยให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ แบบนี้ ในฐานะของนักวิชาการ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้ประสานงานแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ได้เปิดมุมมองในอีกแบบหนึ่ง เหตุการณ์ของ 'นิ่ม' สามารถ ถอดบทเรียน อะไรได้บ้าง ควรแก้ตรงจุดไหน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

 

"ที่โรงเรียน หนูโดนบูลลี่ ทั้งคำพูด และการกระทำ เพื่อนที่โรงเรียนทำเหมือนหนูไม่มีตัวตน ต้องอยู่คนเดียว มันเลยรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน หนูเห็นพ่อทะเลาะกับแม่ตลอด มันบ่อยมาก เห็นตั้งแต่เด็กๆ หนูไม่ชอบเลย หนูนั่งร้องไห้ พยายามขอร้องให้พ่อหยุด แต่เขาก็ไม่หยุด" นั่นคือสิ่งที่นิ่มถ่ายทอด

 

ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า คนเราไม่มีใครมีประสบการณ์เหมือนคนอื่น 100% บางคนอาจจะเจอมากกว่า หรือ น้อยกว่า อาจมีปัจจัยอื่นเข้ามาในชีวิต ซึ่งในส่วนของ 'นิ่ม' นั้น เจอทั้งความรุนแรงในครอบครัว การถูกบูลลี่จากเพื่อนที่โรงเรียน การถูกค้าประเวณี ต้องอยู่ตัวคนเดียว โดยที่ไม่มีใครให้คำปรึกษา ขาดการปกป้องดูแล

 

สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่เคยเจอแบบนี้ แต่ผลที่ออกมาทำไมถึงต่างกัน เพราะไม่สามารถรู้ว่าในชีวิตแต่ละคนนั้นเจออะไรมาบ้างได้ 100%

 

'นิ่ม' ไม่ใช่รายแรกๆ ที่เกิดจากความไม่พร้อม อยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง จนถึงการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ถูกเลี้ยงดูตามมีตามเกิด มันเป็นวงจรที่อาจกลับมาเกิดซ้ำอีก กลายเป็นปัญหาในสังคม ซึ่งเราไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นแบบไหน

 

น.ส.นิ่ม

 

"ตอนคลอดน้องต่อ เจ็บท้องมาก ไม่ได้ตั้งใจว่าจะมีน้อง แต่หลุดมา รู้ตัวว่ามีลูกตอนท้องได้เดือนนึง พอรู้ หนูตั้งใจเก็บไว้ ไม่เคยคิดว่าจะเอาเขาออก เราไม่มีเงินเก็บสำหรับคลอดลูกเลย เราไม่มีอะไรเลยจริงๆ"

 

'นิ่ม' เป็นแม่ที่ไม่พร้อมจะเป็นแม่ มีสถานะซ้อนกันหลายอย่างในตัว คนๆ นี้คือเด็ก ยังไม่พร้อมที่จะตัดสินใจใดๆ ผ่านประสบการณ์ที่ผ่านความยากลำบากและครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ท้องไม่พร้อม ในสังคมจะมองนิ่มว่าเป็นแม่ที่ใจร้าย เอามาตรฐานความเป็นแม่ทางสังคมมาตัดสิน โดยที่ไม่ได้ดูว่านิ่มได้รับปัจจัยอะไรมาเกื้อหนุนให้เขาทำหน้าที่แม่อย่างที่สังคมคาดหวัง

 

กรณีท้องไม่พร้อมนั้น การให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในสังคมยังจำกัดมากๆ แม้กฎหมายเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงสถานบริการไม่ได้มีอยู่ทั่วไป ถึงจะมีการบริการก็ยังขาดการประชาสัมพันธ์ รวมถึงทัศนคติการมองทางสังคมที่มองด้านเดียว ด่วนตัดสิน จนไม่มองปัจจัยรอบด้าน

 

ผู้หญิงท้องไม่พร้อมควรมีทางเลือกว่าจะตั้งครรภ์ต่อ หรือ ยุติการตั้งครรภ์ ถ้าตัดสินใจท้องต่อควรจะมีบริการหรือระบบสวัสดิการแห่งรัฐที่จะดูแลเด็กที่จะเกิดมา เพื่อให้เขาอยู่ในสังคมได้

 

 

ถอดบทเรียนชีวิต 'นิ่ม'

 

ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นกรณีของ นิ่ม หรือให้เกิดน้อยลง ดร.วราภรณ์ บอกว่า เราสามารถนำเรื่องราวชีวิตของ นิ่ม มาถอดเป็นบทเรียน ทั้งคนในสังคมเองที่เสพข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ รวมไปถึงภาครัฐควรสร้างระบบการดูแลชีวิตของพลเมืองตั้งแต่เกิดจนตายควรจะได้รับการปรับปรุงมากกว่านี้ ชีวิต นิ่ม ตั้งแต่เกิดจนเป็นข่าวที่เกิดขึ้น มันมีรอยรั่ว มีช่องโหว่ มากน้อยแค่ไหน

 

ในปัจจุบันยังมีเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงอยู่อีกมาก รวมถึงการถูก บูลลี่ การหลุดออกจากระบบการศึกษา ภาครัฐควรมีวิธีที่จะประคับประคองในส่วนนี้ให้ได้ เราต้องทบทวนเพื่อสร้างสังคม อยากอยู่ในสังคมแบบไหน ภาครัฐก็ต้องคิดพัฒนาระบบชีวิตของคนที่ตกหล่นในสังคมแบบนี้ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร

 

ในประเทศไทยยังไม่ค่อยได้เห็นถึงระบบการเยียวยาสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจในระยะยาว เราไม่ค่อยมีองค์ความรู้ว่าคนที่เติบโตมาจากครอบครัวที่มีความรุนแรงได้สร้างบาดแผลอะไรในจิตใจบ้าง ในแง่สุขภาพจิต การคิด การตัดสินใจ ทางเลือกในการดำเนินชีวิต ระบบการแพทย์ในการประเมิณสุขภาพจิต และการวางระบบในการช่วยเยียวยา เรายังไม่มีองค์ความรู้และยังขาดความละเอียดอ่อน และยังไม่เห็นความสำคัญในจุดนี้

 

 

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้ประสานงานแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ