ข่าว

เมื่อลูกเข้าสู่ ‘วัยรุ่น’ จะเริ่มต้น 'คุยเรื่องเพศ’ กับลูกอย่างไรดี

เมื่อลูกเข้าสู่ ‘วัยรุ่น’ จะเริ่มต้น 'คุยเรื่องเพศ’ กับลูกอย่างไรดี

01 มี.ค. 2566

ความไม่รู้เรื่องเพศของ ‘วัยรุ่น’ ทำให้มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน เกิดโรคทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เคล็ดลับสำคัญ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ต้องสร้างความไว้วางใจ ตัวช่วยให้สื่อสารเรื่องเพศกับลูกได้อย่างใกล้ชิด

ปี2566 แล้ว แต่เรื่องเพศ ยังเป็นเรื่องยากที่จะพูดในสังคมไทย ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย หยาบคาย ไม่จำเป็นต้องสอน เดี๋ยวเด็กโตไปก็สามารถเรียนรู้ได้เอง ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดในวงสนทนาของครอบครัว หรือ ผู้ใหญ่กับเด็ก แท้ที่จริงไม่สามารถปิดกั้นความสนใจใคร่รู้ตามวัยของเด็กได้ 

 

ทำให้เด็กบางคนเลือกที่จะค้นหาข้อมูลเรื่องเพศจากสื่อต่างๆ อาทิ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งเพื่อน ซึ่งไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นถูกต้อง หรือเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ความ "ไม่รู้” หรือ “ไม่เท่าทัน” เรื่องเพศของเด็ก ส่งผลให้เด็กกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบเมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการตั้งครรภ์

 

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สะท้อนมุมมองเรื่องเพศผ่านเวทีเสวนาเรื่อง “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” เมื่อเร็วๆนี้

 

”ข้อมูลอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ในปี 2564 อยู่ที่ 24.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปีพันคน อีกทั้งปัญหาติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างซิฟิลิส ในปี 2564 มีอัตราป่วยในเยาวชนอายุ 15-24 ปี อยู่ที่ 50.5 ต่อประชากรอายุ 15-24 ปีแสนคน สูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากปี 2560 สอดคล้องกับข้อมูลการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอที่ค่อนข้างต่ำ" ชาติวุฒิ กล่าว
 

ศิริพงษ์ เหล่านุกูล คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวและมีลูกกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เล่าว่า ลูกชายเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ในวัย 11 ปี ทำให้การสนทนาพูดคุยระหว่างพ่อลูกเปลี่ยนไปตามวัย ลูกค่อนข้างเงียบขึ้น ไม่เหมือนวัยเด็กที่จะเล่าประสบการณ์ในโรงเรียนให้ฟังทุกคืนก่อนนอน

 

"ทำให้การเริ่มต้นบทสนทนา โดยเฉพาะเรื่องเพศ ต้องดูที่บรรยากาศว่าลูกกำลังทำอะไร ไม่ให้เกิดความรู้สึกอึดอัด เหมือนถูกบังคับให้ต้องพูดคุย" 

 

จากนั้นใช้การเล่าประสบการณ์ของตัวเองก่อน เพื่อเปิดบทสนทนา เช่น วัยเด็กพ่อมีเพื่อนผู้หญิงแบบนี้ แล้วค่อยถามว่าในห้องเรียนของลูกมีเพื่อนผู้หญิงแบบไหน ลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วก็เล่าประสบการณ์ความรักของตนเองให้ลูกฟัง
 

“แต่ก่อนคิดเสมอว่า จะเริ่มต้นพูดเรื่องเพศกับลูกอย่างไรดี เคยถึงขั้นนำวิดีโอมาดู แต่ตอนหลังฉุกคิดได้ว่า การสื่อสารในครอบครัวเป็นบริบทเฉพาะ ไม่มีรูปแบบตายตัว โดยเคล็ดลับสำคัญ คือ ต้องสร้างความไว้วางใจ ขณะคุยต้องไม่สอน ไม่กดดัน ไม่ตำหนิ และแชร์ประสบการณ์ของตน

 

นอกจากผู้ปกครองจะสามารถสื่อสารเรื่องเพศกับลูกได้อย่างใกล้ชิดแล้ว คนสำคัญถัดไป คือ ครูในโรงเรียน เพราะสำหรับเด็กครูบางคนคือไอดอล” ศิริพงษ์ เล่า

 

ขอบคุณที่มา: เวทีเสวนาคุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด