เด็กและเยาวชนไทย พบ10.1% อาศัยใน ‘ครอบครัวยากจน’
เปิดสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย พบอาศัยใน ‘ครอบครัวยากจน’ ที่มีรายได้เส้นแบ่งความยากจนต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน ถึง 10.1% รองลงมาพ่อแม่มีปัญหาจิตเวช ปัญหาที่อยู่อาศัยของเด็กไม่ปลอดภัย ทั้งความแออัด ตามไม่ทันเทคโนโลยี หลงเป็นเหยื่อในสื่อออนไลน์ และสารเสพติด
สถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย พบอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขเด็กในวัยเรียนและเข้าสู่วัยทำงานลดลง อย่างต่อเนื่อง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ส.อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กเละเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยว่า แนวโน้มสถิติเด็กและเยาวชนลดลงทุกปี จากข้อมูลของกรมการปกครอง พบว่า ในปี 2565 มีจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 13 ล้านคน หรือ 19.7% ส่วนเด็ก 18-25 ปี มี 6.8 ล้านคน หรือ 10.3% หากรวมเด็กทั้ง 2 กลุ่ม จะมีสัดส่วน 30% ของประชากรทั้งหมด
ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่รูปแบบของโครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนเป็นครอบครัวข้ามรุ่น และแหว่งกลาง คือ ผู้สูงอายุต้องดูแลเด็ก
"คาดว่าในปี 2583 จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 15% จากปี 2562 อยู่ที่ 13.7% ทำให้เป็นส่วนสำคัญของอุปสรรคในการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว"
ส่วนปัญหาครอบครัวที่พบมากที่สุด คือ เด็กอาศัยในครอบครัวยากจนที่มีรายได้เส้นแบ่งความยากจนต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน ถึง 10.1%
รองลงมาพ่อแม่มีปัญหาจิตเวช ปัญหาที่อยู่อาศัยของเด็กไม่ปลอดภัย ทั้งความแออัด ห้องน้ำรวมกัน โควิด19
และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เด็กก้าวตามไม่ทัน หลงเป็นเหยื่อในสื่อออนไลน์ และสารเสพติด ทางกรมกิจการเด็กเละเยาวชน ได้เข้าช่วยเหลือนำเงินอุดหนุนให้กับครอบครัวเด็กแรกเกิด รายละ 600 บาท โดยมีแม่วัยรุ่นมาลงทะเบียนมากถึง 300,000 คน