ข่าว

ไขข้อข้องใจ 'ตัวเงินตัวทอง' กินได้หรือไม่ ?

ไขข้อข้องใจ 'ตัวเงินตัวทอง' กินได้หรือไม่ ?

02 มี.ค. 2566

ไขข้อสงสัย "ตัวเงินตัวทอง" สัตว์เลื้อยคลาน ที่หลายคนไม่เคยชอบหน้าแท้จริงแล้วแปรรูปเป็นอาหารกินกันได้หรือไม่

ทำเอาสาวกลูกชิ้นปลา ถึงกับกระอักกระอ่วน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ บุกเข้าจับกุมผู้ต้องหาลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลานในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมยึดของกลางเป็นตัวเงินตัวทอง ทั้งที่ยังมีชีวิต และเป็นซาก รวมเกือบ 100 ตัว

 

โดยผู้ต้องหาให้การกับเจ้าหน้าที่ว่ามีการชำแหละเนื้อตัวเงินตัวทองนำส่งร้านอาหารป่าในจังหวัดตราด ต่อมามีเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ออกมาระบุว่า "บุกทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นปลาเจ้าใหญ่ที่ดัดแปลงใช้เนื้อของตัวเงินตัวทองมาทำเป็นลูกชิ้นปลา เนื้อขาวใสไร้ความคาว ส่วนหนังนำไปตากแห้งทำเป็นหนังปลาทอดกรอบ จัดจำหน่ายส่งขายทั่วประเทศ" 

 

ต่อมา ตำรวจสอบสวนกลาง ชี้แจงว่าการจับกุมครั้งนี้ผู้ต้องหา ยืนยันว่า ซากตัวเงินตัวทองเหล่านี้ เตรียมนำไปขายต่อที่ตลาดชายแดนภาคตะวันออก เพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารป่าขายแก่ผู้ชื่นชอบเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด


 

ตัวเงินตัวทองที่ถูกจนท.ยึดได้จากแก๊งค้าสัตว์ป่าฯ

 

 

มาถึงตรงนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจริง ๆ แล้ว เนื้อตัวเงินตัวทอง กินได้หรือไม่ จะเหมือนกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นหรือไม่ 

 

ตัวเงินตัวทอง หรือ ตัวเหี้ย มีชื่อวิทยาศาสตร์ Varanus salvator เป็นสัตว์เลื้อยคลานในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศบังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดีย จนถึงอินโดจีน และเกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย มีความยาวของตัวประมาณ  2.5 –3 เมตร เป็นสัตว์ในตระกูลนี้ที่มีความใหญ่เป็นอันดับสองรองจากมังกรโกโมโด  ที่พบบนเกาะโกโมโด ในอินโดนีเซีย  

 

 

ลักษณะลำตัวของตัวเงินตัวทอง จะมีปุ่มนูน มีลายดอกสีเหลือง

 

 

ผิวหนังเต็มไปด้วยเกล็ดที่เป็นปุ่มนูนตลอดทั้งตัวลำตัวมีลายดอกสีเหลืองพาดขวางทางยาว  มีลิ้นแยกเป็นสองแฉกคล้ายงู ใช้สำหรับรับกลิ่นซึ่งสามารถรับรู้ได้ถึงอาหารเป็นระยะทางไกลหลายเมตร  หางยาวมีขนาดพอ ๆ กับความยาวลำตัว และเป็นอวัยวะสำคัญสำหรับการทรงตัวและเคลื่อนที่ ฟันที่มีลักษณะที่คล้ายใบเลื่อยเหมาะสำหรับการบดกินอาหารที่มีความอ่อนนุ่มโดยเฉพาะ 

 

ชอบอาศัยอยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำ ว่ายน้ำเก่งและ ดำน้ำนาน อุปนิสัยเป็นสัตว์ที่หากินอย่างสงบตามลำพัง จะมารวมตัวกันก็ต่อเมื่อพบกับอาหาร และมีนิสัยตื่นคน เมื่อพบเจอมักจะวิ่งหนี

 

ปกติแล้ว ตัวเงินตัวทอง  จะหากินของเน่าเปื่อย เศษซากอาหาร บางครั้งก็จะกินสัตว์เป็น ๆ แต่ตัวเงินตัวทองไม่ใช่นักล่าแต่เป็นสัตว์กินซากโดยธรรมชาติ เนื่องจากตัวเงินตัวทองมีระบบการย่อยอาหารที่ดีเยี่ยม ในกระเพาะมีน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดรุนแรงและแบคทีเรียสำหรับย่อยสลายซากเน่าโดยเฉพาะ

 

สำหรับตัวเงินตัวทอง หรือตัวเหี้ย มีสัตว์ในสกุลเดียวกันเกือบ 80 ชนิด แต่ที่พบในไทยมีอยู่ด้วยกัน 6 ชนิด คือ

 

1. ตัวเงินตัวทอง หรือ เหี้ยง หรือ มังกรดอก

ลำตัวตัวสีดำ ลิ้นสีม่วงปลายแฉก มีลายดอกสีขาวหรือเหลืองเป็นแถวพาดขวางตัว หางเป็นปล้องสีดำสลับกับเหลืองอ่อน หนังเป็นเกล็ด ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าสัตว์อื่นในจำพวกเดียวกัน 

 

 

ตัวเงินตัวทอง หรือ มังกรกรดอก หรือ ตัวเหี้ย

 

 

2.ตะกวด  หรือ แลน   

พื้นตัวเป็นสีเทาเหลืองหรือน้ำตาลเทา เกล็ดเป็นสีเหลืองหรือเป็นจุด ๆ เมื่อมองผ่าน ๆ จึงดูตัวเป็นสีเหลือง

 

 

ตะกวด

 

 

3.มังกรดำ  หรือ เหี้ยดำ

มีขนาดเล็ก มังกรดำ สีดำสนิทด้านทั้งตัว ไม่มีลายและจุดด่างเลย ท้องเทาเข้ม ลิ้นสีเทาม่วง มังกรดำเป็น Monitor ชนิดที่พบใหม่ มีรูปลักษณะคล้ายเหี้ย แต่เกล็ดผิดกันเพียงเล็กน้อย

 

มังกรดำ

 

 

4.แลนดอน หรือ  ตะกวดเหลือง  

มีนิ้วเท้าที่สั้น และพื้นลำตัวสีเหลือง ไม่ชอบอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือที่ชื้นแฉะจะอยู่เฉพาะที่แห้งแล้งหรือพื้นทราย

 

แลนดอน

 

 

5.เห่าช้าง 

ตัวสีดำเข้ม มีขนาดเล็กกว่าพวกเหี้ย หรือตะกวด มีลายเลือน ๆ ขวางลำตัว ปากแหลมและเกล็ดบนสั้น เกล็ดบนคอใหญ่เป็นแหลม ๆ คล้ายหนามทุเรียน

 

เห่าช้าง

 

 

6.ตุ๊ดตู่   

เป็นสัตว์ที่เล็กที่สุดในกลุ่มสัตว์จำพวกเหี้ย และ ตะกวด ที่พบได้ในประเทศไทย และเป็นสัตว์ไม่มีพิษ มีลายแถบสีครีมตามตัว ตัวมีสีน้ำตาลแดงไปจนถึงคล้ำ

 

 

ตุ๊ดตู่

 

 

สำหรับ ตัวเงินตัวทอง ที่คนกินกันนั้นคือ ตะกวด หรือ ตัวแลน แต่ไม่นิยมกินตัวเงินตัวทองเนื่องจากมีพยาธิ เสี่ยงเป็นอันตรายต่อร่างกาย  และ ตัวเงินตัวทอง ยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามลำดับที่ 19 ตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535  ห้ามเลี้ยง ซื้อ ขาย หรือครอบครอง ต้องมีการขออนุญาตเพาะเลี้ยงจากกรมอุทยานฯ ก่อน ฝ่าฝืนมีความผิดมีโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือต้องจำทั้งปรับ

 

ขณะเดียวกัน รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ การการวิจัยเพื่อพัฒนายาจากเลือด ตัวเงินตัวทอง โดยเฉพาะ ที่ถูกเพาะเลี้ยงในระบบฟาร์ม  ซึ่งหากอนาคตต้องใช้ประโยชน์จาก การเพาะพันธุ์ในระบบฟาร์มจะตรงตามเป้าหมายและเหมาะสมกว่ามาก

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์

 

 

การพัฒนายาจากเลือดตัวเงินตัวทอง เพื่อรักษาโรคร้ายที่กำลังเป็นปัญหาของมนุษย์ คือ การพิสูจน์ให้มั่นใจได้ว่านอกจากสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง และแบคทีเรียบางชนิดแล้ว จะไม่ส่งผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติในร่างกายมนุษย์ ก่อนจะดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรให้แล้วเสร็จ ก่อนเดินหน้าศึกษาวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านไวรัสที่ครอบคลุม 3 สายพันธุ์ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ โดยเริ่มจากไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และ COVID-19 ต่อไป

 

มาถึงตรงนี้แล้ว เราคงได้คำตอบกันแล้วว่า ตัวเงินตัวทอง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจไปในตัว ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนในบางประเทศที่นำมาทำเป็นอาหาร แต่สำหรับคนไทยเรียกได้ว่าถึงจะกินได้แต่ก็ไม่ไม่นิยมนำเป็นอาหารกินกัน

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลประกอบ :  ประชาสัมพันธ์จาก งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  "เปิดรายละเอียดมหิดล มุ่งศึกษา “ตัวเงินตัวทอง” ความหวังพ้นวิกฤตโควิด19" / วิกิพีเดีย /องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย