ข่าว

'สุขภาพพระสงฆ์' เสี่ยง 'เบาหวาน-ความดัน' แนะ 'ทำบุญมาฆบูชา' ลดของไขมันสูง

'สุขภาพพระสงฆ์' เสี่ยง 'เบาหวาน-ความดัน' แนะ 'ทำบุญมาฆบูชา' ลดของไขมันสูง

05 มี.ค. 2566

'กรมอนามัย' เผยเนื่องใน 'วันมาฆบูชา' ได้เปิดผลสำรวจพฤติกรรม 'สุขภาพพระสงฆ์' ปี 65 เกือบ 2 หมื่นรูป พบพระสงฆ์มีพฤติกรรมสุขภาพพึงประสงค์เพียงร้อยละ 25 เสี่ยงอาพาธ 'โรคเบาหวาน-ความดัน' แนะ' ทำบุญตักบาตร' ลดอาหารไขมันสูง เน้นผัก ผลไม้หวานน้อย พร้อมชวน 'ทำบุญออนไลน์'

วันที่ 6 มีนาคม 2565 เป็น "วันมาฆบูชา" ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเป็นวันพระใหญ่ "กรมอนามัย" ได้ออกมาเปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพพระสงฆ์ ปี 2565 จำนวน 18,496 รูป พบว่า พระสงฆ์มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ เพียงร้อยละ 25 นั่นหมายความว่าอีกร้อยละ 75 พฤติกรรมสุขภาพไม่พึงประสงค์

 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย

เมื่อย้อนกลับไปดูสาเหตุน่าจะเป็นเพราะพระภิกษุสามเณรไม่สามารถเลือกสิ่งของที่นำมา "ตักบาตร" ถวายได้ การนำอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิที่ให้พลังงานสูงทำบุญตักบาตร จะส่งผลให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกิน เพิ่มความเสี่ยงต่อ "สุขภาพพระสงฆ์" ส่งผลให้พระสงฆ์ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ "โรคเบาหวาน" "โรคความดันโลหิตสูง" โรคหัวใจขาดเลือดและภาวะไขมันในเลือดสูง 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย จึงได้ขอแนะนำให้ประชาชนเลือกอาหาร "สุขภาพ" ในการ "ตักบาตร" ถวายอาหารเพล โดยเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย เน้นอาหารที่เป็นเมนูชู "สุขภาพ" ลดหวาน มัน เค็ม โดยเลือกใช้ข้าว/แป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต อาหารประเภท ปลา เต้าหู้ ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ รวมทั้ง เลี่ยงเมนูอาหารกะทิ และอาหารทอด โดยเปลี่ยนเป็นอาหารประเภทต้ม นึ่ง ยำ อบ ลวก น้ำพริก ลดอาหารหวานจัดและอาหารหมักดอง รวมถึงตักบาตรด้วยผักผลไม้หลากหลายชนิดและสี ตามฤดูกาล นมจืด นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตรสธรรมชาติ น้ำเปล่า และน้ำปานะหวานน้อย
 

กรณีถวายอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบ ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วและไม่เป็นสนิม หรือเลือกซื้ออาหาร เครื่องดื่มที่มีสัญลักษณ์ทางเลือก "สุขภาพ" (Healthier Choice)


สำหรับประชาชนหรือผู้สูงอายุหากไม่สะดวกเดินทางไปทำบุญหรือปฏิบัติธรรมที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม สามารถเปลี่ยนมา "ทำบุญ" ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น ทำบุญผ่าน QR Code (e-Donation) หรือไหว้พระสวดมนต์ และนั่งสมาธิได้ที่บ้านได้ 

แอพพลิเคชั่นทำบุญออนไลน์