กรมทะเลฯ สำรวจ 'สัตว์ทะเล' หายากในทะเลกระบี่ พบพะยูนและเต่าทะเลสุขภาพดี
กรมทะเลฯ สำรวจ 'สัตว์ทะเล' หายากพื้นที่ทะเลกระบี่ พบพะยูนยังผสมพันธุ์ได้ดี เต่าทะเลมีสุขภาพอุดมสมบูรณ์ พร้อมจับมือมุ่งทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลอนุรักษ์
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง เผยว่าได้รับการรายงาน วันที่ 1-5 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเล อันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ออกปฏิบัติงานสำรวจการแพร่กระจายของ "สัตว์ทะเล" หายาก บริเวณพื้นที่ จังหวัดกระบี่ โดยบินสำรวจ (Aerial Survey) ซึ่งใช้เครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร Mr. Eduardo Angelo Loigorri วิธีการสำรวจทางเรือ ใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV-drone) ณ บริเวณเกาะปู เกาะศรีบอยา และหมู่เกาะใกล้เคียง จังหวัดกระบี่ เบื้องต้นพบพะยูน 22 ตัว (พะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 3 คู่) กับเต่าทะเล 74 ตัว ผลการตรวจสุขภาพโดยการประเมินจากการสังเกตด้วยสายตา
พบว่า พะยูน แสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเล พฤติกรรมการผสมพันธุ์ และยังพบพะยูนคู่แม่-ลูก ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ รวมถึง เต่าทะเล สุขภาพโดยรวมไม่พบความผิดปกติ ส่วนข้อมูลและภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งนี้ จะใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของ "สัตว์ทะเล" หายากในบริเวณพื้นที่ จังหวัดกระบี่ ต่อไป
ถึงแม้การสำรวจครั้งนี้จะพบว่า "สัตว์ทะเล" หายากมีความอุดมสมบูรณ์ดี แต่ก็ยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชน จังหวัดกระบี่ และทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันอนุรักษ์ ช่วยกันสอดส่องดูแล ทั้งนี้ กรม ทช. ยังได้มีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยีกับนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ "สัตว์ทะเล" หายาก รวมถึงทรัพยากรทาง ทะเล และชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือของประชาชนในการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ทั้งการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะ ทะเล ตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ ทะเล ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับนวัตกรรมเพื่อการจัดการแบบเต็มรูปแบบอีกด้วย เพราะเชื่อว่าการที่เรารักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมให้ "สัตว์ทะเล" หายากเหล่านี้ได้อาศัยและเพิ่มจำนวนโดยธรรมชาติได้นั้นเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ซึ่งต้องช่วยกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อความสมบูรณ์ของท้อง ทะเล