ข่าว

กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อ 'HIV' ก่อนรับเข้าทำงาน

กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อ 'HIV' ก่อนรับเข้าทำงาน

09 มี.ค. 2566

กสม.เผยผลมีการร้องเรียนของบริษัทกับโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้รับเข้าทำงานเพราะเป็นผู้ติดเชื้อ 'HIV' และการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการเอาข้อมูลไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว

9 มีนาคม 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ แถลงการณ์ถึงประเด็น กสม. ตรวจสอบกรณีบริษัทเอกชนกำหนดเงื่อนไขให้ผู้สมัครงานตรวจหาเชื้อ "HIV" ก่อนรับเข้าทำงานและปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานเนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อ เป็นการละเมิดสิทธิฯ สถานพยาบาลที่รับตรวจและแจ้งผล ละเมิดด้วย
 

นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งระบุว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ผู้ร้องได้สมัครงานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ประกอบกิจการผลิตและจัดจำหน่ายสุขภัณฑ์ยี่ห้อในพื้นที่ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี

 

กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อ \'HIV\' ก่อนรับเข้าทำงาน

 

เมื่อผู้ร้องได้ผ่านการสัมภาษณ์งาน เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้แจ้งให้ผู้ร้องไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งพยาบาลได้เจาะเลือดผู้ร้องโดยไม่แจ้งว่าจะมีการตรวจหาเชื้อ "HIV" จากนั้นโรงพยาบาลได้ส่งผลการตรวจสุขภาพของผู้ร้องไปยังบริษัทฯ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องได้รับแจ้งจากบริษัทฯว่า ไม่สามารถรับผู้ร้องเข้าทำงานได้เนื่องจากเป็นผู้ติด "HIV" ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการ ละเมิดสิทธิมนุษย์ชน จึงขอให้ตรวจสอบ

จากการตรวจสอบ และพิจารณาปัญหาได้ 2 ประเด็น ดังนี้

 

1.การที่บริษัทฯ กำหนดให้มีการตรวจหาเชื้อ "HIV" ในผู้สมัครงานเป็นการกระทำอันเป็นการ ละเมิดสิทธิมนุษยชน การที่บริษัทฯ กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวและปฏิเสธรับผู้ร้องเข้าทำงานเพราะปรากฏผลการตรวจสุขภาพว่าเป็น "HIV" ทั้งที่ข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ "HIV" ในผู้สมัครงานเนื่องจากผู้ติดเชื้อสามารถดำรงชีวิตและทำงานได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสุขภาพ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิในการทำงานและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

 

 

2.การดำเนินการของโรงพยาบาลในการรับตรวจสุขภาพและตรวจหา "HIV" แก่ผู้ร้องในฐานะผู้สมัครงาน และการแจ้งผลการตรวจหา "HIV" ไปยังบริษัทฯ โดยตรง เป็นการกระทำอันเป็นการ ละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้โรงพยาบาลผู้รับตรวจสุขภาพจะชี้แจงว่าได้ให้ผู้เข้ารับการตรวจลงชื่อยินยอมในหนังสือแสดงความยินยอมก่อนเข้ารับการตรวจและยินยอมให้แจ้งผลการตรวจให้แก่บุคคลอื่นแล้ว

 

แต่การให้ความยินยอมในลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานแสดงความยินยอมตามแบบฟอร์มซึ่งจัดทำขึ้นเป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้ให้คำปรึกษาและข้อมูลแก่ผู้เข้ารับการตรวจเพื่อประกอบการตัดสินใจและให้ความยินยอมก่อนเจาะเลือดตรวจหาเชื้ออย่างเคร่งครัด ตามแนวทางปฏิบัติของแพทย์เกี่ยวกับ "HIV" ที่ประกาศโดยแพทยสภา

โดยแพทย์สภา กำหนดไว้ว่า การตรวจการติดเชื้อ "HIV" ในบุคคลทั่วไป แพทย์ต้องจัดให้มีการให้คำปรึกษาก่อนตรวจเป็นรายบุคคลหรือให้อ่านเอกสาร ข้อควรรู้ก่อนการตรวจการติดเชื้อ "HIV"  และต้องมีการขอและให้ความยินยอมที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร

 

ส่วนการแจ้งผลการตรวจต้องแจ้งให้ผู้รับการตรวจทราบเป็นการส่วนตัว และต้องรักษาความลับอย่างเคร่งครัดโดยไม่แจ้งผลให้ผู้อื่นทราบ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้รับการตรวจหรือตามกฎหมาย โดยผลการตรวจหาเชื้อ "HIV" ของบุคคล ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ด้วย กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่การให้ความยินยอมโดยอิสระบนพื้นฐานความสมัครใจของผู้เข้ารับการตรวจอย่างแท้จริง 

 

กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อ \'HIV\' ก่อนรับเข้าทำงาน

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติด "HIV" ในการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานนั้น กสม. ได้เคยมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลัก สิทธิมนุษยชน ต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่จากสภาพการณ์ปัจจุบันยังคงปรากฏข้อร้องเรียนทำนองเดียวกับกรณีตามคำร้องนี้อยู่

ทำให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวปฏิบัติแห่งชาติที่เกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ "HIV" ว่าไม่สามารถบังคับใช้ต่อหน่วยงานเอกชนได้ ทั้งยังพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่มีสภาพบังคับเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ "HIV" ในเรื่องสิทธิการทำงานอย่างจริงจัง