เปิดคำสั่ง ศาลปกครอง สั่งระงับสร้าง 'โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา'
เปิดคำสั่ง 'ศาลปกครอง' สั่งระงับสร้าง 'โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา' หรือ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้ ไม่ชอบด้วยกฏหมาย
หลังจาก กทม.เดินหน้า ผลักดัน "โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา" มาตั้งแต่ปี 2562 ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ "ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" นั้น จะมีผลกระทบมากมาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และผังเมือง จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง
โดยล่าสุด ศาลปกครอง ได้มีคำพิพากษา ให้ระงับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฏหมาย จนกว่าจะทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ในการจัดทำการรับฟังความเห็นประชาชน
โดยศาลปกครอง มีคำพิพากษา คดีที่เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก 12 ราย ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี ,คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ,กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 4 ขอให้ศาลเพิกถอนโครงการฯ และ ผู้ถูกฟ้องคดี ยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด เเละทำตามรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชาชน เเละดำเนินการเกี่ยวกับการดูเเลเเม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการไม่ได้เผยเเพร่ข้อมูลข่าวสารให้คน กทม.เเละประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ไม่มีกระบวนการส่วนร่วมของประชาชน
โดยศาลปกครองพิเคราะห์ เเล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยวิธีการอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แล้ว ส่วนการเผยแพร่ข้อมูล ในระบบเครือข่ายสารสนเทศ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งสามครั้ง มิได้ระบุถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัย หรือประกอบอาชีพอยู่ในสถานที่ ที่จะดำเนินโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว กรณีนี้จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนของระเบียบดังกล่าว
นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ตามข้อ 11 ของระเบียบเดียวกัน และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นไม่เกิน 15 วัน หลังจากการรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่เมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ที่แสดงให้เห็นว่ามีการประกาศเผยแพร่ข้อมูลโครงการ และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ตามวันเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้าง
กรณีนี้จึงรับฟังว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้ดำเนินการ ให้เป็นไปตามข้อ 11 และข้อ 12 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้ต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการ รับฟังความคิดเห็นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็น และ จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและประกาศให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็น ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองในกรณีนี้จึงฟังขึ้น
รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติว่า การดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมิน ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน,พรบ.ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ส่วนที่ 4 การทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลใช้บังคับ ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติในการประชุมเมื่อเห็นชอบการดำเนินโครงการพิพาท
อย่างไรก็ดี โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีเจตนารมณ์ ให้สิทธิ และเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้ มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศ ให้มีผลใช้บังคับ โดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับ ก่อนการบังคับใช้ บทบัญญัติมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ด้วย
จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งมีผลผูกพันองค์กรของรัฐ จึงเห็นว่า การที่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ ที่มีความสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิตของ ผู้คน รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อโครงการพิพาทกำหนดให้มีการก่อสร้าง สะพานและสิ่งปลูกสร้างอื่น ล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ รูปแบบโดยทั่วไป เป็นทางเดินจักรยานกว้างประมาณ 10 เมตร และมีแผนก่อสร้างโครงการยาว 14กิโลเมตร จึงอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก กรณีนี้จึงอยู่ในความหมายเป็นการดำเนินการโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
แม้การดำเนินโครงการพิพาท ได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการจัดทำเพื่อเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม นำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งเเวดล้อมเเห่งชาติเพื่อทราบเท่านั้น กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้จัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามนัยมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67วรรคสอง ซึ่งมีผลใช้บังคับขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการพิพาท ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 ในกรณีนี้จึงฟังขึ้น
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 อ้างว่า การดำเนินโครงการพิพาทขัดต่อพระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาตรา 10 เนื่องจากไม่มีการขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร นั้น เห็นว่า พรบ.โบราณสถานฯมาตรา 10 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถาน หรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้น สิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดี หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใด ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำชี้แจงของอธิบดีกรมศิลปากรว่า พื้นที่โบราณสถาน จำนวน 4 แห่ง ที่ตามแผนแม่บทกำหนดให้มีการก่อสร้างโครงการพิพาทผ่าน หรือรุกล้ำเข้าไปในบริเวณโบราณสถานดังกล่าว ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทราบ ได้แก่ สะพานพระรามหก คลองหุง วัดอนัมนิกายาราม วัดแก้วฟ้าจุฬามณี วัดจันทรสโมสร วัดวิมุตยาราม วัดฉัตรแก้วจงกลนี และมัสยิดบางอ้อ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร การจะปลูกสร้างอาคารโครงการพิพาท ภายในบริเวณโบราณสถานทั้งแปดแห่งข้างต้น จึงอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะต้องได้รับการอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อน ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 จึงฟังขึ้น ด้วยเหตุผลดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น
จึงเห็นว่าการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (โครงการพิพาท) เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้ระงับการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 จนกว่าจะได้มีการดำเนินการตามข้อ 7วรรคหนึ่ง (7) และวรรคสอง ข้อ 11 และข้อ 12 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าว จะได้ดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบัญญัติไว้โดยครบถ้วน รวมทั้งเจ้าท่ามีอำนาจอนุญาต และ ได้อนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำได้ตามกฎหมาย ว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และ อธิบดีกรมศิลปากรได้มีคำสั่งเป็นหนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในบริเวณ ที่โครงการพาดผ่าน
สำหรับคำสั่งเกี่ยวกับคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 4 ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือ ศาลมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ขอบคุณภาพ : iao.bangkok