ข่าว

กวาดล้าง 'แรงงานต่างด้าว' แย่งงาน 'คนไทย'

กวาดล้าง 'แรงงานต่างด้าว' แย่งงาน 'คนไทย'

13 มี.ค. 2566

'สุชาติ รมวแรงงาน' สั่งบุกจับ 'แรงงานต่างด้าว' ผิดกฏหมายในสถานประกอบการเกือบ 2 หมื่นแห่ง ดำเนินคดี 685 แห่ง ทำงานผิดกฎหมาย 1,550 คน แย่งอาชีพ 'คนไทย' 883 คน จับดำเนินคดีทั้งหมด

"นายสุชาติ ชมกลิ่น" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือ "รมวแรงงาน" กล่าวหลังจากสั่งการเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกวาดล้างแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย หลังผู้ประกอบการในพื้นที่ย่านท่องเที่ยวร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบว่า กระทรวงแรงงานได้เข้าตรวจสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศ จำนวน 18,966 แห่ง แรงงานต่างชาติจำนวน 240,918 คน พบทำผิดกฎหมายถูกดำเนินคดี 685 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 240,918 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,550 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา  

 

 

ในจำนวนนี้พบ "ต่างด้าว" เป็นการแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 883 คน อาชีพที่พบมากที่สุดคือ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด 

 

 


 

นายไพโรจน์​ โชติกเสถียร​ อธิบดีกรมการจัดหางาน​ นำทีมตรวจแรงงานต่างด้าวที่ปากคลองตลาด

 

 

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้ร่วมปฏิบัติการนี้ด้วยนั้นบอกว่า  เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดี คนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายฯ ของกรมการจัดหางาน และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ รับข้อสั่งการ "รมวแรงงาน" บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปูพรมตรวจสอบทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ทั้งกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่ที่เป็นแหล่งประกอบอาชีพของคนไทย และย่านการค้าแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่พบเห็นแรงงานต่างชาติทำงานจำนวนมาก

 

 

อย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ เยาวราช ห้วยขวาง ปากคลองตลาด และปริมณฑล อาทิ สมุทรสาคร นครปฐม สระบุรี ปทุมธานี ซึ่งหากตรวจสอบพบมีความผิดจะดำเนินคดีตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคน "ต่างด้าว" พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่มีข้อยกเว้น 

“แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเคารพกฎหมายของเรา เช่นเดียวกับที่เวลาคนไทยไปทำงานในต่างประเทศก็ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้นๆ โดยแรงงานต่างชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง รวมทั้งต้องทำงานตามสิทธิ ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน" นายไพโรจน์ กล่าว

 

 

สำหรับ "แรงงานต่างด้าว" ที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี