ชาวบ้านร้อง 'โครงการผันน้ำยวม' หวั่นกระทบชีวิตไร้เอกสารสิทธิไม่ได้เงิน
ชาวบ้านร้องเรียน 'โครงการผันน้ำยวม' ส่งผลกระทบชีวิตในชุมชนและไร้เอกสารสิทธิไม่ได้รับเงินเยียวยา ด้านนักวิจัยชี้ไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งกล่าวถึงประโยชน์จากโครงการฯ
15 มี.ค. 66 กรมชลประทาน ได้จัดเวทีเสวนา 'ได้' หรือ 'เสีย' เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็น "โครงการผันน้ำยวม" พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา ตัวแทนจากภาคเกษตรกร พร้อมตอบคำถามและข้อห่วงใยจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่
สำหรับการเปิดเวทีเสวนาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกลางในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ "โครงการผันน้ำยวม" ที่จะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จ.ตาก โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร บนเวทีเสวนานำเสนอ "โครงการผันน้ำยวม" ที่ช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในลุ่มแม่น้ำปิงและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ในเวทีเสวนายังมีตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับความจาก "โครงการผันน้ำยวม" รวมแสดงความคิดเห็นด้วย
รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำยวม หรือ "โครงการผันน้ำยวม" เป็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นโครงการที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิงและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในแม่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนภูมิพลลงไป เป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำทุกภาคส่วน ตามแบบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี สามารถช่วยผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลได้เฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้าน ลบ.ม. สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมจากผลประโยชน์ด้านการเกษตรได้มากกว่า 17,431 ล้านบาทต่อปี
หาก "โครงการผันน้ำยวม" สำเร็จ จะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่น เพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ ช่วยในเรื่องการผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลเฉลี่ย 417 ล้านหน่วย/ปี สร้างอาชีพการทําประมงในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นับได้ว่าเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบริเวณลุ่มน้ำปิงและลุ่มเจ้าพระยา รวมถึงเพิ่มความมั่นคงทางด้านน้ำ พัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย
รศ.ดร.เดช กล่าวว่า น้ำท่วมในบ้านแม่สวดมีแค่บางส่วนที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น ประเด็นที่ห่วงว่าเครื่องสูบน้ำจะดังนั้นไม่ต้องกังวลเพราะเครื่องสูบน้ำตัวนี้อยู่ลึกถึง 35 เมตร มีระบบ Acoustic แล้วก็ปั้มน้ำมีมาตรฐานถึง 6 ตัว ส่วนเรื่องของกองดินนั้นทางวิศวกรรมมีการดูแลและพัฒนาเส้นทางในการลำเลียงเพื่อกัดกร่อนทำลายดินทิ้งพร้อมทั้งมีมาตรการกำกับงานอย่างชัดเจน ที่สำคัญคนในหมู่บ้านกังวลว่าจะกระทบ 30-36 หมู่บ้านจะเห็นเลยว่าท่อมุดลงไปใต้ภูเขาในระดับลึกถึง 800 เมตร ท้ายที่สุดมีการจัดทำพื้นที่อเนกประสงคเพื่อประชาชน จากนั้นหน้าดินที่เหลือก็นำมาปลูกไม้ยืนต้น ยังรวมถึงเป็นอาหารสัตว์พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่สีเขียว
ส่วนกรณีการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้น ภาครัฐได้ดำเนินการชดเชยไปแล้วบางส่วน ตามมติครม. ซึ่งมีการอุนมัติให้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิด้วย อย่างไรก็ตามตนเข้าใจว่าคนในชุมชนเกิดความกังวลแลเข้าใจผิดว่าไม่มีเอกสารสิทธิแล้วขจะไม่รับเงินเยียวยา แต่ในความเป็นจริงแล้วหน่วยงานรัฐมีการสำรวจภาพถ่ายทางดาวเทียม พร้อมทั้งวางพิกัดชุมชน บ้านเรือน ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้คนในหมู่บ้านไดเรับเงินเยียวยาทุกคน
นอกจากนี้ในเวทีเสวนายังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "โครงการผันน้ำยวม" โดยคุณทอง ปันม่อง ชาวบ้านท่าเรือ กล่าวว่า ตนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องที่อยู่อาศัยและการประมงในแม่น้ำยวม ซึ่งถ้า "โครงการผันน้ำยวม" ได้ทำจริงตนก็จะไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำมาหากิน อีกทั้งบ้านของตนนั้นไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน รวมไปถึงชาวบ้านที่นี้ก็ไม่มี เอกสารสิทธิ เช่นกัน ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐจะให้เงินเยียวยาก็ตาม แต่พวกคนในชุมชนก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ไม่รู้จะทำอาชีพอะไร เพราะที่นี้เหมือนเป็นแหล่งที่อยู่ทำมาหากิน
ด้านบุญยวง เชียงแก้ว ผู้ใหญ่บ้านแม่สวดใหม่ ตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องที่อยู่อาศัยในพื้นที่จุดเริ่มต้นน้ำ กล่าวว่า ถ้าเขื่อนเกิดขึ้นพวกชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ที่นี่จะไปอยู่ไหน แล้วยังมีเรื่องดินที่จะเอาไปทิ้งอีกและเครื่องสูบ6ตัวที่จะทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะนอนไม่ได้นั้นเอง
สุดท้าย วันชัย สีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ปลายอุโมงค์ กล่าวว่า ถ้ามุมมองของคนภายนอก มองว่าการมีน้ำเข้ามามันดี แต่ปัจจุบันหน้าฝนน้ำก็มีเยอะอยู่แล้ว ถ้าจะเอาแม่น้ำยวมลงมาตรงนี้คนในชุมชนได้รับผลกระทบแน่ๆ ทั้ง 175 ครัวเรือนไม่ใช่แค่ที่นี้ แต่มีตำบลฮอด ตำบลนาคอเรือด้วย แต่หน่วยงานรัฐสำรวจดูพื้นที่แค่ 3-4 ครัวเรือนเท่านั้น ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐมาคุยเจราจาเรื่องเงินเยียวยาก็ไม่มี และEIAผ่านทั้งๆ ที่เขาไม่เคยมาคุยกับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ
เครดิตรูป : กรมชลประทาน