ต่อยอดงานวิจัย 'กัญชาทางการแพทย์' ใช้รักษา 3 โรคหายาก ใช้กัญชารักษาโรคพุ่ง
สธ.เดินหน้าต่อยอดงานวิจัย 'กัญชาทางการแพทย์' เพื่อรักษา 3 โรคหายาก โดยเฉพาะลมชักในเด็ก ผลักดันกัญชาให้ความมั่นคงทางสุขภาพ health for wealth
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมขับเคลื่อนนโยบาย "กัญชาเสรีทางการแพทย์" กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้มีการรายงานสถานการณ์กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งได้นำเสนอมาตรการเตรียมความพร้อมกรณีที่ (ร่าง) พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ.... ไม่สามารถพิจารณาได้ทันสมัยการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร โดยในที่ประชุมให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลใน 4 ด้าน คือ การปลูกและผลิตของผู้ประกอบการ การใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ
การศึกษาวิจัยและการติดตามผลกระทบทั้งทางบวกและลบ โดยพบว่าในปี งบประมาณ 2566 ซึ่งผ่านมาเพียง 4 เดือน แต่ยอดผู้ป่วยที่ได้รับยา กัญชา เพิ่มขึ้นถึง 125% ในขณะที่มีผลิตภัณฑ์ กัญชา กัญชง จำนวน 2,523 รายการที่ได้รับอนุญาต และมีงานวิจัยที่มีทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากกว่า 50 ชิ้น ที่ช่วยยืนยันประสิทธิผลการใช้ "กัญชาทางการแพทย์" ในส่วนของการติดตามผลกระทบทางบวก พบว่ามีเม็ดเงินที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และบริการกัญชาและกัญชงกว่า 30,000 ล้านบาท ในขณะที่ด้านลบ ที่นำไปใช้ในทางที่ผิด ก็ยังพบมีการรายงานเข้ามา ซึ่งทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก็เร่งดำเนินการควบคุมกำกับให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย
นพ.ประพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมในครั้งนี้ มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วม เพื่อทราบสถานการณ์และความก้าวหน้าการดำเนินงาน "กัญชาทางการแพทย์" ซึ่งก็พบที่เราตั้งยุทธศาสตร์ไว้ว่า เราจะใช้ศึกษาวิจัยยากัญชาสำหรับ 3 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรคหายาก หรือ rare diseases กลุ่มโรคที่เป็นปัญหาของระบบสุขภาพ และกลุ่มโรคที่พบบ่อยต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศ และเมื่อศึกษาวิจัยแล้วจะนำเข้าชุดสิทธิประโยชน์เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งวันนี้กรมการแพทย์ก็ได้มานำเสนอว่า กำลังจะสรุปผลการวิจัยการใช้ยากัญชาที่มี CBD เด่นในโรคลมชักในเด็กที่รักษายาก ว่ามีแนวโน้มช่วยลดการชักได้ การชักแต่ละครั้งมีผลต่อการทำงานของสมองเด็ก ซึ่งหากเราทำให้ชักน้อยลง
เราก็ช่วยชะลอพัฒนาการของสมองเด็กได้ หรือการวิจัยที่จะนำ CBD มาใช้รักษาการติดยาเสพติดที่เป็นปัญหาคุกคามสุขภาพคนไทยในขณะนี้ ซึ่งมีการวิจัยทั้งที่ใช้สารสกัดกัญชาชนิด CBD เดี่ยวๆ เทียบกับยามาตรฐาน และการใช้กัญชาชนิด CBD ร่วมกับยามาตรฐานในการบำบัดผู้ป่วยเสพติดเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า ซึ่งในการประชุมวันนี้ก็ได้เสนอให้ทำวิจัยพหุสถาบัน หรือ multicenter ไปเลย เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากรอใช้ยาอยู่ เราต้องการผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือมาใช้
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากเขตสุขภาพที่ 1- 4 มารายงานผลการดำเนินการปี 2565 และนำเสนอแผนงานการขับเคลื่อนกัญชา 2566 ให้ทราบ ซึ่งทุกเขตที่มาเสนอก็มีผลการใช้ยาเพิ่มขึ้นทุกเขต เกินกว่าเป้าหมายที่กระทรวงคาดไว้ แต่ที่น่าชื่นใจกว่าคือ ทุกๆ เขตล้วนแล้วแต่มีงานวิจัยที่สนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาที่ปลอดภัย และทำให้เห็นว่า ประเทศไทยสามารถใช้ภูมิปัญญาไทย อย่างกัญชา ผลักดันให้เป็น health for wealth ในด้านการแพทย์และสุขภาพ ทำให้คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง นพ.ประพนธ์ กล่าว