ข่าว

กสม. เรียกร้องสิทธิ 'บัตรทอง' ให้ได้รับการเข้าถึงทุกภาคส่วน

กสม. เรียกร้องสิทธิ 'บัตรทอง' ให้ได้รับการเข้าถึงทุกภาคส่วน

16 มี.ค. 2566

กสม. เรียกร้องสิทธิ 'บัตรทอง' ให้ผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทอง เช่น ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ของกฎหมายประกันสังคมให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม

16 มีนาคม 2566  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์  ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงประเด็นสำคัญเรื่อง 


กสม. ยินดีให้ ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาคุ้มครอง สิทธิ ประชาชนในการรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค หลังประธาน กสม. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งแก้ปัญหา

 

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


นายวสันต์ กล่าวว่า กสม. ได้ติดตามสถานการณ์ สิทธิ ด้านสุขภาพและรับทราบข้อห่วงกังวลจากประชาชนในเรื่องการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อันเนื่องมาจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีมติ เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ให้ชะลอการจัดสรรงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

 

เป็นผลทำให้ สปสช. ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากกองทุนของ สปสช. ให้เป็นค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ สำหรับประชาชนที่อยู่นอก สิทธิ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ "บัตรทอง" ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ของกฎหมายประกันสังคม ประมาณ 18 ล้านคน เช่นที่เคยเป็นมาได้ 

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว กสม พบว่า ปัจจุบันหน่วยบริการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายสร้างเสริมสุขภาพฯ จาก สปสช. สำหรับผู้ที่อยู่นอก สิทธิ "บัตรทอง" ได้ ทำให้หน่วยบริการบางแห่งยุติการให้บริการดังกล่าวแก่ผู้อยู่นอก สิทธิ "บัตรทอง" ส่วนหน่วยบริการที่ยังคงให้บริการต่อเนื่องต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง จึงอาจไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่

 

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

นอกจากนี้ กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การสร้างเสริมสุขภาพช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และลดภาระงบประมาณของประเทศในการดูแลรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และรัฐธรรมนูญได้รับรอง สิทธิ ให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐอย่างทั่วถึง การที่หน่วยบริการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายของผู้ที่อยู่นอก สิทธิ "บัตรทอง"

 

เริ่มมีผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่มี "บัตรทอง" ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และมาตรา 55 ระบุไว้ว่า ประชาชนทุกคนต้องได้รับ สิทธิ ที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ 

 

ด้วยเหตุนี้ทาง กสม จึงมีหนังสือด่วนที่ลงวันที่ 10 มี.ค. 2566 เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการคุ้มครองสิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครอง สิทธิ ในการได้รับบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพฯ สำหรับผู้ที่อยู่นอก สิทธิ "บัตรทอง" ให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร่งด่วน

 

กสม. เรียกร้องสิทธิ \'บัตรทอง\' ให้ได้รับการเข้าถึงทุกภาคส่วน

สำหรับข้อเสนอของ กสม. ประกอบด้วย 

1. ขอให้ ครม. เร่งรัดให้ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้การจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 อันมีสาระให้สิทธิบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพฯ ครอบคลุมถึงผู้ที่อยู่นอก สิทธิ "บัตรทอง" ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นมีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนที่อยู่นอก สิทธิ "บัตรทอง" ทุกกลุ่มมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม

2. ในระหว่างการจัดทำกฎหมายตามข้อ 1. ให้ ครม. สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ที่อยู่นอก สิทธิ "บัตรทอง" สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงชดเชยเงินให้แก่หน่วยบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้สำรองค่าใช้จ่ายในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปก่อนแล้ว

 

เป็นที่น่ายินดี เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ครม. ตอบรับข้อเสนอ และลงมาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค อันสอดคล้องกับข้อเสนอของทาง กสม.