ข่าว

นวัตกรรม​ 'น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์'​  ลดฝุ่นเกาะ-สะท้อนน้ำ'

นวัตกรรม​ 'น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์'​ ลดฝุ่นเกาะ-สะท้อนน้ำ'

18 มี.ค. 2566

สวทช. ค้นพบนวัตกรรมลดฝุ่นเกาะ-สะท้อนน้ำแผงโซล่าเซลล์ระดับอุตสาหกรรมโรงงาน ตอบเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจสีเขียว

ผลวิจัยจากหลายหน่วยงานออกมาเปิดเผยถึงแนวโน้มพลังงาน​ทางเลือก โดยเฉพาะโซลาร์รูฟที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด​ สอดคล้องกับนโยบายพรรคการเมืองที่หาเสียงมุ่งใช้พลังงานทางเลือก​  ล่าสุด​จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ​ (สวทช.)​  ค้นพบนวัตกรรมลดฝุ่นเกาะ-สะท้อนน้ำแผงโซล่าเซลล์ระดับอุตสาหกรรมโรงงานได้สำเร็จ​ เพื่อการผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพตอบโจทย์โลกอนาคต

 

 

ทีมวิจัย​ สวทช.

 

ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)  สวทช.​ กล่าวถึงความสำเร็จ​ ว่า​ ฝุ่นนับว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโซลาร์เซลล์ที่ทำให้ประสิทธิภาพในการรับแสงอาทิตย์ที่จะนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อการผลิตไฟฟ้าระดับโรงงานอุตสาหกรรมหรือการทำโซลาร์ฟาร์มที่ต้องติดตั้งแผงจำนวนมาก

น้ำยาเคลือบโซลาร์เซลล์

 

เนื่องจากช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน หรือหน้าแล้งนั้น ไทยต้องเจอกับฝุ่นจำนวนมาก ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ลดลง 6-8 % และหากเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเขม่าควันหรือละอองน้ำมันจับที่หน้าแผงประสิทธิภาพอาจลดลงได้ถึง 9-10%  ทีมวิจัยคิดค้นนวัตกรรม​ "น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์ จากเทคโนโลยีเคลือบนาโน (Nano Coating)"

 

ดร.ธันยกร อธิบายว่า เป็นการพัฒนาสูตรขึ้นเป็นพิเศษ โดยปรับค่ามุมสัมผัสของน้ำบนวัสดุ (Watter contact angle) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการลดการเกาะของฝุ่นให้แก่พื้นผิว และยังมีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ โดยของเหลวที่ตกกระทบพื้นผิววัสดุที่ผ่านการเคลือบ จะมีลักษณะเป็นก้อนกลมกลิ้งไหลออกจากพื้นผิว ลดการยึดเกาะและชำระล้างฝุ่นรวมถึงสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากแผงโซลาร์เซลล์โดยไม่ทิ้งคราบน้ำ ทำให้แผงผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 5 ในช่วงหน้าแล้ง

 

 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย​ ถึงทิศทางของตลาด "โซลาร์เซลล์" และภาพรวมของพลังงานทางเลือกก็มีแนวโน้มไปในทางบวก ตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในปี 65 น่าจะขยายตัวสู่ระดับ 125.9 เมกะวัตต์ หรือเติบโตราว  54.2% จากปี 64  

 

โดยในระยะข้างหน้าการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปน่าจะทวีความสำคัญมากขึ้น  จากกระแสการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) รวมถึงแรงผลักดันจากนโยบายภาครัฐในหลายประเทศรวมถึงไทยที่ตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 93 และน่าจะมีการทยอยออกมาตรการผลักดันที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นตามมา

 

 

เช่นเดียวกับข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า อัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมของไทยในปี 2566 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึง 5 บาทต่อหน่วย โดยสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริงที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด