ข่าว

สรุปปม 'เหมืองทองอัครา' สะเทือนรัฐบาล ขายสมบัติชาติ แลกถอนฟ้อง?

สรุปปม 'เหมืองทองอัครา' สะเทือนรัฐบาล ขายสมบัติชาติ แลกถอนฟ้อง?

22 มี.ค. 2566

ย้อนไทม์ไลน์ มหากาพย์ 'เหมืองทองอัครา' ปม สั่นสะเทือนรัฐบาล กับข้อครหา ขายสมบัติชาติ แลกถอนฟ้อง? หรือ งาน แลก ชีวิต

เมื่อ 'เหมืองทองอัครา' ได้ฤกษ์ เปิดเดินเครื่องจักร เพื่อผลิตทองคำและเงิน อีกครั้ง หลังเจอคำสั่งระงับการประกอบกิจการมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ด้วยเหตุผล เหมืองแร่ทองคํา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมถึงมีปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทําเหมืองแร่ทองคํา

 

 

เรื่องทั้งหมด นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด จากออสเตรเลีย บริษัทแม่ของอัครา ที่ได้รับอนุญาตสัมปทานในการขุดสำรวจแร่ทองคำ คมชัดลึก ย้อนปมคดีเหมืองทองอัครา ที่ว่ากันว่า ขายสมบัติชาติจริงหรือ?

เหมืองทองอัครา

  • มหากาพย์ 'เหมืองทองอัครา'

 

1. ปี 2543 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด จำกัด จากออสเตรเลีย บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ชนะประมูล ได้สิทธิสัมปทานการขุดเหมืองแร่ทองคำชาตรีใต้ พื้นที่ 1,259 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี สิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2563 และเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ พื้นที่ 2,466 ไร่  ระยะเวลา 20 ปี วันที่ 21 กรกฎาคม 2551-20 กรกฎาคม 2571

 

2. จากนั้น บริษัท คิงส์เกตฯ ได้มอบหมายให้ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการขุดเหมือง จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า 'เหมืองทองอัครา'

 

3. เหมืองแร่ทองคำอัครา หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า เหมืองทองชาตรี ตั้งอยู่ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร มีพื้นที่การทำสัมปทานในการขุดหาแร่ทองคำ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พิจิตร, พิษณุโลก และ เพชรบูรณ์ ดำเนินกิจการด้วยเงินลงทุนเกือบ 5 พันล้านบาท มีการจ้างงานคนงานกว่า 1,000 คน เริ่มขุดหาแร่ทองคำตั้งแต่ปี 2544

 

4. โครงการเหมืองทองนี้ ทำให้เงินสะพัดในพื้นที่รอบๆ เกิดธุรกิจ การจ้างงาน กิจการร้านค้าต่างๆ มากมาย จึงมีชาวบ้านส่วนหนึ่งให้การสนับสนุน แต่อีกส่วนหนึ่งคัดค้าน เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนไป น้ำอุปโภคบริโภคเหือดแห้ง จนต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ ชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วย มีอาการแพ้ เกิดตุ่มผื่นคันขึ้นบนผิวหนัง จึงมีชาวบ้านอีกส่วนคัดค้านการทำเหมืองเช่นกัน

เหมืองทองอัครา

  • ความขัดแย้งเริ่มก่อตัว

 

5. เหมืองทองอัครา ถูกร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2550 โดยมีความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่ ทั้งกลุ่มที่ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง ขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่ม รวมถึงบริษัท อัคราฯ ระบุว่า การต่อต้านเหมืองมาจากปัญหาการอยากขายที่ดินให้บริษัท อัคราฯ โดยเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาเป็นข้ออ้าง 

 

6. หลังจากนั้น ก็มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวบ้านกับเหมืองมาโดยตลอด ชาวบ้านทั้งร้องเรียน ทั้งยื่นฟ้องศาลปกครอง ทางเหมืองเองก็ฟ้องกลับเช่นกัน ทั้งข้อหาบุกรุกและหมิ่นประมาท

 

7. ปี 2558 มีการสุ่มตรวจเลือดชาวบ้านรอบเหมือง พบว่าหลายคนมีสารหนูในเลือด บางรายมีดีเอ็นเอผิดปกติ จึงออกคำสั่งห้ามทำเหมือง 30 วัน เพื่อให้ทางเหมืองแก้ปัญหา

 

8. หลังจากนั้น ยังคงมีการสุ่มตรวจเลือดชาวบ้านรอบเหมืองอีกครั้ง พบว่าหลายคนมีค่าสารโลหะหนักเกินมาตรฐาน ทั้งแมงกานีส สารหนู และไซยาไนด์ แล้วยังพบสารโลหะหนักปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำและนาข้าวด้วย แม้ทางบริษัทอัคราฯ จะพยายามแก้ปัญหา มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ แต่ไม่พบว่ามีสารพิษรั่วไหล สรุปปัญหาก็ยังไม่มีข้อยุติ

เหมืองทองอัครา

  • ใช้อำนาจ คสช.สั่งระงับเหมืองทองอัครา

 

9. วันที่ 13 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ คสช. สั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองทองอัครา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ด้วยเหตุผลว่า เหมืองอัคราสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบต่างๆ หลายด้าน

 

10. หลังจากที่เหมืองทองอัครา ถูกสั่งปิด ทางบริษัท คิงส์เกต มองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากยังไม่มีข้อพิสูจน์รองรับว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากเหมือง จึงพยายามยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้แก้ปัญหาร่วมกัน แต่ตกลงกันไม่ได้

 

11. พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกตฯ ตัดสินใจยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้เป็นเงินกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) เนื่องจากการสั่งปิดเหมือง เป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย

 

  • ตั้งงบสู้คดีถึง 111 ล้าน

 

12. มีการเปิดประเด็นจาก สส.พรรคก้าวไกลว่า รัฐบาลตั้งงบประมาณ สู้คดี บริษัท คิงส์เกตฯ 3 ปี ใช้ไปจำนวน 389 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดว่า เมื่อปี 2562 ใช้งบประมาณไป 60 ล้านบาท ปี 2563 ใช้ไป 218 ล้านบาท และปี 2564 ตั้งงบประมาณอีก 111 ล้านบาท รวม 3 ปี 389 ล้านบาท

 

13. เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สามารถนำเงินของรัฐมาจ่ายได้ แถมเคยประกาศชัดเจนว่า “ผมรับผิดชอบเอง” ดังนั้น ค่าสู้คดีรัฐในคดีนี้รวม 3 ปี 389 ล้านบาท ค่าเสียหายที่จะต้องจ่ายตามมา หากแพ้คดีอีกเกือบ 40,000 ล้าน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องควักเงินตัวเองจ่าย

 

14. อีกหนึ่งข้อสังเกต ก่อนที่จะมีการอ่านคำตัดสิน ที่มักจะเลื่อนออกไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 3 ครั้ง ไทยมักจะอนุมัติผลประโยชน์ที่มากขึ้น ให้กับบริษัท อัคราฯ โดยเดือนพฤศจิกายน 2564 ไทยอนุมัติให้บริษัท อัคราฯ สำรวจแร่ทองคำ จำนวน 44 แปลง เนื้อที่เกือบ 4 แสนไร่ ซึ่งใช้เวลาอนุมัติเพียงแค่ 3 เดือนเศษ นับจากวันที่บริษัท อัคราฯ มีหนังสือถึงอุตสาหกรรม จ.เพชรบูรณ์

 

15. การนัดอ่านคำตัดสินมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 แต่ก็มีการขอเลื่อนมาเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และเลื่อนไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน

 

16. บริษัท คิงส์เกตฯ ประกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่จำนวน 4 แปลง ที่จำเป็นในการเปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรี นั่นแปลว่า เหมืองทองอัครา ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

 

17. ในที่สุด 21 มี.ค.2566 บริษัท อัคราฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมสังเกตการณ์ การเปิดเดินเครื่องจักร เหมืองทองอัครา เป็นวันแรก ภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการครบถ้วนแล้ว ซึ่งเมื่อเดินเครื่องเต็ม จะมีผลผลิตทองคำประมาณปีละ 5.5 ล้านตันสินแร่

เหมืองทองอัครา เปิดเดินเครื่องวันแรก

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด แต่การเจรจาที่บริษัท คิงส์เกตฯ ดูจะได้ประโยชน์ขนาดนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า บริษัท คิงส์เกตฯ อาจจะถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรืออีกแนวทาง คือขอให้คณะอนุญาโตตุลาการ ‘ชี้ขาดตามยอม’ คือมีคำชี้ขาดที่ไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่ชี้ขาดว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ตกลงกันไว้ ดังนั้น มหากาพย์ "เหมืองทองอัครา" ยังต้องจับตากันต่อไปว่าจะลงเอยอย่างไร