บุกถามชัชชาติ 'สวนชูวิทย์' เป็นของกทม. หรือยัง หลังเอกชนเข้าใช้พื้นที่
จี้ถาม ชัชชาติ 'สวนชูวิทย์' ที่ดินพิพาทบาร์เบียร์ ตกเป็นของ กทม.โดยปริยายแล้วหรือยัง หลังเอกขนเข้าพัฒนาพื้นที่เป็นมิกซ์ยูสขนาดใหญ่
สืบเนื่องจากเมื่อ 22 พ.ค.48 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ จัดแถลงข่าวครั้งแรกระหว่างการต่อสู้คดีรื้อบารณ์เบียร์ในศาล เพื่อแสดงความตั้งใจว่าไม่ต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนดังกล่าว และจะนำที่ดินคืนสาธารณะให้สังคมโดยจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และต่อมาวันที่ 24 ธ.ค.48 ไม่ทันถึงปีนายชูวิทย์ก็จัดแถลงข่าวเปิดตัว "สวนชูวิทย์" และกล่าวในวันนั้นว่า เจตนาที่จะเสียสละนำที่ดินดังกล่าวสร้างเป็นสวนสาธารณะให้กรุงเทพมหานคร ให้เป็นปอดของคน กทม. ได้ใช้ประโยชน์แทนโครงการสร้างโรงแรม เรียกว่า "สวนชูวิทย์"
จากกรณีดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อสอบถามสถานะของที่ดิน "สวนชูวิทย์" บริเวณสุขุมวิท ซอย 10 หลังเคยมีกรณีพิพาทกันในคดีรื้อทุบบาร์เบียร์ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามกฎหมายไปแล้วหรือไม่
เพราะที่ผ่านมาในคดีรื้อบาร์เบียร์นั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อ ม.ค.59 ว่าที่ดินพิพาทบริเวณ สุขุมวิทซอย 10 นั้นศาลฎีกาเห็นว่าหลังเกิดเหตุ นายชูวิทย์ กับพวกได้ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายไปบางส่วนแล้ว และยังมีการนำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด นับว่ามีเหตุปรานี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม พิพากษาแก้ว่าจากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
แต่ปัจจุบัน "สวนชูวิทย์" ไม่มีแล้ว เพราะถูกนำไปพัฒนาเป็นอาคารสูงโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ จึงสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมกันอย่างมากว่า การอุทิศที่ดินของนายชูวิทย์ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยมิได้นำไปจดทะเบียนนั้น จะถือได้ว่าที่ดินกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามป.พ.พ.มาตรา 1304 โดยไม่จำต้องนำไปจดทะเบียนการให้ต่อเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525 อันมีผลโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ หากมีผลสมบูรณ์แล้ว เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯกทม.ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
ดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องสอบถาม ผู้ว่าฯชัชชาติ ให้วินิจฉัยและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในวันนี้ ซึ่งหากท่านผู้ว่าฯวินิจฉัยว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามกฎหมายแล้วกทม.ก็ต้องดำเนินการเรียกคืนที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นสวนสาธารณะหรือให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามครรลองของกฎหมายต่อไป หากไม่ดำเนินการสมาคมฯจำต้องนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
สำหรับการตีความการบอกที่ดินให้เป็นที่สาธารณะมีคำพิพากกรณีอุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ สรุปไว้ดังนี้
การอุทิศที่ดินเพื่อเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหาตกอยู่ในบังคับว่าด้วยการยกให้ไม่ แม้การยกให้โดยปริยายก็มีผลทำให้ที่ดินที่ยกให้ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ไม่จำต้องจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็สมบูรณ์ตามกฎหมาย การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นทางสาธารณะเป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1304ไม่จำต้องจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา525ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย