คนไทย 'ติดหวาน' กินน้ำตาลเกิน 4 เท่า เตรียมปรับเกณฑ์ความหวานเหลือร้อยละ 5
คนไทย 'ติดหวาน' กินน้ำตาลเกิน 4 เท่า ปกติกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ทะลุถึง 25 ช้อนชา เตรียมปรับ 'สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ' ความหวานเหลือร้อยละ 5 ลดกินหวาน
ยุคสมัยการเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มสะดวกสบายมากขึ้น ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคเครื่องดื่มที่มี "น้ำตาล" สูงขึ้น นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ คำถามก็คือว่า ทางออกคือการปรับพฤติกรรมคน "ติดหวาน" หรือใช้กฎหมายบังคับ หรือต้องทำควบคู่กันไป
รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดพฤติกรรมการบริโภค "น้ำตาล" ของคนไทย พบว่า คนไทยมีการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีรสหวาน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเวลากินน้ำตาลมากเกินจะเปลี่ยนเป็นการสร้างไขมันที่มีผลเสียต่อสุขภาพโดยไม่รู้ตัว เฉลี่ยแล้วคนไทยกินน้ำตาลถึง 25 ช้อนชาต่อวัน ในขณะที่กรมอนามัยแนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา ซึ่งเกินไปถึง 4 เท่า
รศ.ดร.วันทนีย์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายต่อไปคือต้องปรับลดความหวาน เพื่อคนไทยที่ "ติดหวาน" ลดกินหวาน จากร้อยละ 6 ให้เป็นร้อยละ 5 หวานน้อยสั่งได้ ภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ต้องร่วมมือกัน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย
กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การบริโภคอาหาร การปฏิบัติตนการออกกำลังกาย เป็นต้น และจากข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560-2562 พบว่า คนไทยบริโภค "น้ำตาล" ทราย 2.5-26 ล้านตันต่อปี และปี 2562 คนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ย 3 แก้วต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรค
ภาระกิจต่อไปคือ เตรียมปรับเกณฑ์ "ความหวาน" ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศไทยให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน โดยปรับลดเกณฑ์ความหวานของการรับรอง "สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ" จากร้อยละ 6 ให้เป็นร้อยละ 5 เท่ากับหวานน้อยสั่งได้ ภายใต้นโยบาย "หวานน้อยสั่งได้"
ขณะนี้ มีภาคธุรกิจแฟรนไซส์เครื่องดื่มรายใหญ่เข้าร่วมนโยบายแล้วจำนวน 27 แบรนด์ รวมทั้งร้านค้าที่เป็น Local Brand ทั่วประเทศ อีกจำนวน 2,355 ร้าน
ทั้งนี้ พฤติกรรม "ติดหวาน" คือ กินขนมหวานระหว่างวัน ดื่มเครื่องดื่มรสหวาน ไม่ค่อยชอบน้ำเปล่า หิวบ่อย หากไม่ได้กินของหวาน จะรู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด เวลากินอาหารหรือเครื่องดื่มต้องเติมน้ำตาล
สามารถปรับพฤติกรรม "ลดกินหวาน" ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องอดอาหาร เช่น กินอาหารตามเวลา สารอาหารครบถ้วน และสัดส่วนที่เหมาะสม สั่งเครื่องดื่มหวานน้อย ค่อย ๆ ปรับลด "ความหวาน" ลง ลดการซื้อขนมหรือเครื่องดื่มรสหวานระหว่างวัน หรือลดการซื้อเก็บไว้ที่บ้าน ลดการปรุงเพิ่มด้วยน้ำตาล น้ำเชื่อม ทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม ดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ เลือกของว่างที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้หวานน้อย ถั่ว ธัญพืช เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม "ลดกินหวาน" อย่างมีวินัยและทำอย่างต่อเนื่อง เพียง 21 วัน ก็จะสามารถปรับนิสัย "ติดหวาน" ได้ เพราะการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงนั้น จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ช่วยปกป้องการเจ็บป่วยหรือโรคภัยไข้เจ็บได้
ข้อมูล: สสส.
ภาพ:brandbuffet