ข่าว

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง คดี BTS ฟ้อง ล้มประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง คดี BTS ฟ้อง ล้มประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'

30 มี.ค. 2566

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับยกฟ้องคดี BTS ฟ้องล้มประมูล 'รถไฟฟ้าสีส้ม' ชี้มูลเหตุการยกเลิกประกวดราคาไม่ได้เป็นไปตามอำเภอใจ

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นและพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส  ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ รฟม. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

 

กรณีมีมติการประชุม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการ  "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว  

โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการยกเลิกประกาศเชิญชวนและการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนมิได้เป็นไปโดยอำเภอใจ และการยกเลิกเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ระหว่างรัฐและเอกชน ตาม ม.6 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.  2562 ซึ่งถือเป็นการกระทำโดยสุจริตไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฏหมาย


 

ส่วนประเด็นที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง2 ยกเลิกประกาศฯโดยอำเภอใจหรือไม่นั้น ศาลให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง2 จะต้องคัดเลือกเอกชนให้เสร็จโดยเร็ว เพราะถ้าล่าช้า จะทำให้เกิดผลกระทบด้านผลตอบแทน และการเปิดใช้บริการฝั่งตะวันออกที่ล่าช้าไปด้วย รวมถึงจะต้องมีค่าใช้จ่ายในงานโยธาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการสูญเสียไปจากเดิม ที่กำหนดตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 430,000 คนต่อวัน  ทั้งนี้ จึงถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง2 ได้ใช้ข้อเท็จจริงในการประกาศยกเลิก โดยพิจารณาอาศัยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว 

 

ส่วนประเด็นที่ว่า คดีนี้มีการฟ้องร้องอยู่ในหลายคดี และไม่ทราบระยะเวลาการพิจารณาคดี จึงให้ดำเนินการยกเลิกประกาศต่อได้ โดยไม่ต้องรอการพิจารณาของศาล นั้น เมื่อไม่ปรากฏว่า ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2หยุดการยกเลิก ดังนั้นจึงไม่ต้องรอให้ศาลมีคำวินิจฉัยก่อน จึงถือเป็นการพิจารณาวินิจฉัยทั่วไปที่สามารถยอมรับกันได้

 

ส่วนประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง2 กระทำขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 ไม่ได้เอื้อต่อเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ  จึงถือว่าไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค พร้อมเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยแวดล้อมในการมายกเลิกประกาศดังกล่าว

 

ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ในการยกเลิกประกาศเชิญชวน และการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน ‘มิได้เป็นไปโดยอำเภอใจ และการยกเลิกเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ระหว่างรัฐและเอกชน ตาม ม.6 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.  2562 ซึ่งถือเป็นการกระทำโดยสุจริตไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฏหมาย’ 

 

ที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ รวมถึงเพิกถอนประกาศของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวของวัน 3 ก.พ. 63 โดย ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติ นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

 

 

อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าว บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จากกรณีมีมติในที่ประชุม เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค. 63 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน