ข่าว

9 แนวทางสืบสานประเพณี 'สงกรานต์ 2566' ตามมติ ครม.

9 แนวทางสืบสานประเพณี 'สงกรานต์ 2566' ตามมติ ครม.

02 เม.ย. 2566

ครม. เห็นชอบ 9 แนวทางสืบสานประเพณี 'สงกรานต์ 2566' "สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล" เน้นเล่นอย่างรู้คุณค่า เหมาะสม ปลอดภัย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบแนวทางการรณรงค์ เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณี สงกรานต์ 2566 ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ โดยมีคณะกรรมการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดแนวทางรณรงค์เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่ดีงาม เหมาะสม ป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงกำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ประเพณีสงกรานต์ในโอกาสที่ไทยเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

 

สำหรับแนวทางการรณรงค์ เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณี สงกรานต์ 2566 ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” สรุปจากมติ ครม.ได้  9 ข้อ ดังนี้

 

1. ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนร่วมจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ สืบสานคุณค่าสาระของประเพณีอันดีงามพร้อมประชาสัมพันธ์สู่การรับรู้ของชาวต่างชาติ

 

2. ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์ที่ดีงาม เหมาะสม

 

3. รณรงค์ให้ประชาชนร่วมสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณี สงกรานต์ 2566 เช่น ทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถาน สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระพุทธรูป และขอพรผู้สูงอายุ

 

4. รณรงค์ให้แต่งกายที่สร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทย ย้อนยุค หรือชุดสุภาพ ร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยต่อชาวต่างชาติ

 

5. ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสืบสานประเพณี โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกันเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

 

6. หน่วยงานด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และด้านบริการประชาชนให้รักษามาตรการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ สงกรานต์ 2566 เป็นช่วงเวลาที่สร้างความสุข ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 

7. ขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้ยานพาหนะและใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่องหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม

 

8. การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม 608 (กลุ่มเสี่ยง) ให้รักษาตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และโรคทางเดินหายใจ ควรมีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้เข้าร่วมงาน

 

9. ส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี สงกรานต์ 2566 ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ในโอกาสที่สงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติที่เข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโก

 

ทั้งนี้ จากการที่ ครม. มีมติ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบเอกสารนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ขณะนี้กระบวนการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโก คาดยูเนสโกจะพิจารณาการขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติภายในเดือนธันวาคม 2566