'กรมกิจการเด็กและเยาวชน' ผลักดันครอบครัวอุปถัมภ์หวังลดเด็กสถานสงเคราะห์
'กรมกิจการเด็กและเยาวชน' ร่วมมือกับ แคร์ ฟอร์ ชิลเดรน ผลักดันการเลี้ยงดูแบบครอบครัวอุปถัมภ์เพื่อลดจำนวนเด็กในสถานสงเคราะห์ร้อยละ 10 ต่อปี เพื่อให้เด็กกลับคืนสู่พ่อแม่ที่แท้จริง
"กรมกิจการเด็กและเยาวชน" ภายใต้สังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมมือกับ แคร์ ฟอร์ ชิลเดรน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสวัสดิการและพัฒนาเด็กจากประเทศอังกฤษ เพื่อประชาสัมพันธ์ FOSTER CARE เพื่อกระตุ้นให้เกิดระบบอุปถัมภ์เด็กอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในประเทศไทย
โดยนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัดพม.) นางเตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และ นาย โรเบิร์ต โกลเวอร์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารของ แคร์ ฟอร์ ชิลเดรน ได้กล่าวถึง โครงการ Foster Care ว่า โครงการดังกล่าว "กรมกิจการเด็กและเยาวชน" และแคร์ ฟอร์ ชิลเดรน ได้สนับสนุนและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีรอบด้าน ความปลอดภัย และความมั่นคงทางสังคมแก่เด็กและเยาวชนไทย รวมทั้งช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กและครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ร่วมถึงช่วยคัดเลือกพ่อแม่อุปถัมภ์ที่พร้อมดูแลเด็กที่มาจากสถานสงเคราะห์เด็ก และบ้านพักเด็กที่อยู่ในการดูแลของรัฐบาล
นายอนุกูล กล่าวว่า พม. ได้เห็นถึงความสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กและแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ ในการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก โดยสหประชาชาติได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็ก ปี 60 - 64 ที่คำนึงถึงการเลี้ยงดูทดแทนแก่เด็กในรูปแบบสถานรองรับเด็กตามความเหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อพัฒนาการของเด็ก พร้อมทั้งพัฒนาระบบการดำเนินงานของครอบครัวอุปถัมภ์ ให้เป็นการสร้างทางเลือกที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นและภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการคุ้มครองและจัดสวัสดิการแก่เด็ก พร้อมทั้งเปลี่ยนบทบาทสถานรองรับเด็กให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดสวัสดิการแก่เด็กและเยาวชนต่อไป
ดังนั้น พม. กับกรมกิจการเด็กและเยาวชน จึงได้จัดให้มีสถานสงเคราะห์ เพื่อให้บริการ ช่วยเหลือ สงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ พัฒนาและฟื้นฟู จัดบริการสังคมแก่เด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหา โดยมีสถานรองรับกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุตั้งแต่แรกเกิด - 24 ปี จำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสถานสงเคราะห์เด็ก แต่ด้วยการกำหนดนโยบายที่จะลดจำนวนเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กลงร้อยละ 10 ต่อปี
จึงได้มีการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเลี้ยงดูทดแทนของประเทศไทย โดยการหาครอบครัวที่เหมาะสมให้กับเด็ก โดยการให้เด็กไปอยู่ในสถานสงเคราห์ก่อน จากนั้นจึงหาผู้ที่มีความพร้อมและความสามารถที่จะดูแลเด็ก 1 คนได้ ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการเลี้ยงดูทดแทน (Alternative Care Roadmap) โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวโดยกำเนิดของเด็ก
ด้านนางเตือนใจ กล่าวว่า เด็กและเยาวชนได้รับความร่วมมือในการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กในรูปแบบ ครอบครัวอุปถัมภ์ ร่วมกับองค์การ Care for Children ประเทศอังกฤษ มาตั้งแต่ปี 54 นับเป็นระยะเวลากว่า 11 ปี ของการเป็นหุ้นส่วนการทำงาน เพื่อให้เด็กที่ประสบปัญหาทางสังคมในสถานรองรับเด็กของภาครัฐ ได้มีโอกาสในการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวทดแทน โดยมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จากอดีตจนถึงปัจจุบันรวม 3 ฉบับ
เพื่อทำงานร่วมกันในการสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กในความอุปการะของสถานรองรับเด็ก ด้วยรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์แบบ Foster Care ในชุมชน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานรองรับจำนวน 29 แห่ง และบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีเด็กในสถานรองรับเด็ก 17 แห่ง เข้ารับการเลี้ยงดูใน ครอบครัวอุปถัมภ์ จำนวนทั้งสิ้น 223 คน ใน 174 ครอบครัว นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญพัฒนาคู่มือเป็นแนวปฏิบัติการดำเนินงานครอบครัวอุปถัมภ์ได้สำเร็จเมื่อปี 65
ด้าน นายโรเบิร์ต กล่าวว่า สถานสงค์เคราะห์ขนาดใหญ่เป็นสภาพแวดล้อมในที่ไม่เอื้ออำนวยต่อพัฒนาการของเด็ก เจ้าหน้าที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตลอดเวลาทำให้ไม่สามารถมอบความอบอุ่น ความเข้าใจได้และความรักต่อเด็กๆได้ดีนัก แต่ถ้าเด็กได้มีการเติบโตในครอบครัว พ่อแม่อุปถัมภ์จะสามารถให้การดูแลอย่างใกล้ชิดได้ตลอดเวลาเด็กๆ ต้องการพ่อแม่ และความรักจากครอบครัว
แคร์ ฟอร์ ซิลเดรน ผลักดันให้เกิดการดูแลเด็กอย่างถาวร การอุปถัมภ์เด็กในระยะยาวสามารถมอบโอกาสในการเติบโตในสภาพแวดล้อมใแบบครอบครัวที่มีความมั่นคงและความรักความอบอุ่นแก่เด็ก ในขณะที่เด็กยังอยู่ภายใต้การดูแลคุ้มครองตามกฎหมายและในด้านการเงินและสนับสนุนอื่นๆ การดูแลระยะสั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการอุปถัมภ์เด็กในประเทศไทยบ้านพักพิงและสถานสงเคราะห์ในยามฉุกเฉินอาจมอบการสนับสนุนในระดับพื้นฐานแก่เด็กๆ ได้
แต่ ครอบครัวอุปถัมภ์ สามารถเติมเต็มได้มากกว่าความรัก การอบรมสั่งสอน และการดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างที่เด็กต้องการท่ามกลางบรรยากาศของครอบครัวที่มีความรักความอบอุ่น นอกจากนี้ครอบครัวอุปถัมภ์ยังสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กๆ และช่วยเตรียมพร้อมให้เด็กกลับคืนสู่การดูแลของพ่อแม่ที่แท้จริง หรือให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมในอนาคต
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าว ยังเป็นมอบโอกาสให้พ่อแม่อุปถัมภ์ได้สร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมโดยพ่อแม่อุปถัมภ์สามารถส่องต่อความรักให้กับเด็ก ๆ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กหนึ่งคนได้อย่างมหาศาล
คุณสมบัติการรับสมัครเด็กเป็นครอบครัวอุปถัมภ์
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี แต่ไม่เกิน 65 ปี และมีอายุมากกว่าเด็ก 15 ปี
- มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง ถูกสุขลักษณะ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
- มีนิสัยและความประพฤติเหมาะสม
- มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
- มีเวลาในการดูแลเด็ก และสมาชิกในครอบครัวเห็นชอบที่อุปการะเลี้ยงดู
- มีรายได้ที่แน่นอนสามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้
- มีความสามารถในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ตามมาตราฐานขั้นต่ำ
- มีความเข้าใจกับวิธีการเลี้ยงดูเด็กและมีความพร้อมในการเข้ารับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก
- อ่านและเขียนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้
- ไม่มีประวัติเคยกระทำผิดความผิดตามกฎหมายหมายอาญาและใช้สารเสพติด จนได้รับโทษจำคุก
สิ่งที่ครอบครัวอุปถัมภ์จะได้รับ
- ค่าตอบแทนการเลี้ยงดูเด็กรายเดือน 2000 บ./เด็ก1คน
- ค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำหรับเด็ก เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษา ค่ารถเดินทางไป รร.
- สิ่งของเครื่องใช้สำหรับเด็กตามความเป็นจริง
สนใจสามารถทราบรายละเอียดในการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ หรือสมัครเข้าร่วมโครงการ ติดต่อสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ และบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกแห่งในกรุงเทพฯ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและควา่มมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สถานรองรับเด็ก 33 แห่ง และบ้านพักเด็กและครอบครัว 76 แห่งทั่วประเทศ