ข่าว

'ลิซ่า blackpink' แรงบันดาลใจตั้งชื่อดอกไม้ชนิดใหม่ของโลก 'บุหงาลลิษา'

'ลิซ่า blackpink' แรงบันดาลใจตั้งชื่อดอกไม้ชนิดใหม่ของโลก 'บุหงาลลิษา'

12 เม.ย. 2566

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นำชื่อ "ลิซ่า blackpink" ตั้งชื่อพืชดอกหอมชนิดใหม่ของโลก "บุหงาลลิษา" เพื่อเป็นเกียรติแก่ "ลิซ่า ลลิษา" ศิลปินชื่อก้องโลกชาวไทย แรงบันดาลใจของนักศึกษาป.เอกที่ร่วมทีมวิจัย

"ผศ.ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู" นักวิจัยสังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" (มช.) เล่าความสำเร็จหลังจากได้ร่วมกับน.ส.อานิสรา นายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยสังกัดกลุ่มวิจัยอิสระ PDiT: Plant Diversity in Thailand และผู้ร่วมวิจัยอีกหลายคน ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก จากการศึกษาพืชดอกหอมวงศ์กระดังงา (Annonaceae) ในจ.นราธิวาส โดยบูรณาการข้อมูลสัณฐานวิทยาและวิวัฒนาการชาติพันธุ์เชิงโมเลกุลเข้าด้วยกัน ได้ตั้งชื่อไม้ดอกชนิดนี้ว่า "บุหงาลลิษา" 

ดอก "บุหงาลลิษา" ที่นักวิจัย มช. ค้นพบเป็นพืชดอกหอมชนิดใหม่ของโลกที่หายากและเสี่ยงสูญพันธุ์จากนราธิวาส

 

 

 

"บุหงาลลิษา" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Friesodielsia lalisae Damth., Baka & Chaowasku โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ "ลลิษา มโนบาล" หรือ "ลิซ่า blackpink" ศิลปินชื่อดังชาวไทยวง Blackpink ซึ่งความมุ่งมั่นของลิซ่าเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาระดับปริญญาเอกของ น.ส.อานิสรา 

"บุหงาลลิษา" มีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีกลิ่นหอมแรง กลีบดอกหนา สีเหลือง กลีบชั้นนอกเรียวยาว กลีบชั้นในประกบกันไม่บานออก มีความยาวประมาณครึ่งหนึ่งของกลีบชั้นนอก จากการสำรวจพบบุหงาลลิษาเพียง 2 ต้นในป่าทุติยภูมิใกล้สวนยางและสวนผลไม้ในอ.จะแนะ จ.นราธิวาส

 

 

 

ดอก "บุหงาลลิษา" ที่นักวิจัย มช. ค้นพบเป็นพืชดอกหอมชนิดใหม่ของโลกที่หายากและเสี่ยงสูญพันธุ์จากนราธิวาส

 

 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ได้ถูกตัดไป 1 ต้น ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์บุหงาลลิษา ก่อนที่จะเหลือเพียงชื่อ "บุหงาลลิษา"

 

 

 

"บุหงาลลิษา" สามารถพัฒนาเป็นไม้ดอกหอมเพื่อเลื้อยพันซุ้มได้ และควรศึกษาต่อยอดเพื่อหาสารสำคัญและฤทธิ์ทางชีวภาพ อันอาจนำไปสู่การค้นพบยาใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต

 

 

 

ทีมวิจัยที่ค้นพบพืชดอกหอมชนิดใหม่ของโลกที่หายากและเสี่ยงสูญพันธุ์จากนราธิวาส ตั้งชื่อ บุหงาลลิษา เพื่อเป็นเกียรติแก่ ลิซ่า blackpink

 

 

 

งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยอนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงาในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Willdenowia ปีที่ 53 ปี 2566